ม.นวมินทร์ เปิดศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเปิดศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร เผย 5 อันดับโรคที่คร่าชีวิตก่อนวัยอันควรทั้งหญิงและชาย พร้อมผลสำรวจคนกรุงเทพฯบริโภคผักผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์ ติดน้ำอัดลมขนมกรุบกรอบกว่าภาคอื่น ส่งผลต่อภาวะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมกับกรุงเทพมหานคนร กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ แถลงข่าวเปิดศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร โดย รศ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ปัจจุบันคนกรุงเทพฯและคนไทยป่วยด้วยโรคต่าง ๆ จำนวนมากขึ้น แต่การเก็บรวบรวมข้อมูลของการเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพและด้านสาธารณสุขมีหลายหน่วยงาน ข้อมูลที่ปรากฎจึงเป็นลักษณะต่างคนต่างเก็บข้อมูล ขาดการนำมาวิเคราะห์ประมวลผลร่วมกัน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลด้านสุขภาพที่แท้จริง นอกจากนี้ยังมีระบบประชากรที่แอบแฝง แรงงานต่างด้าว และนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมากที่เดินทางมาเที่ยวในไทย ทำให้ข้อมูลสุขภาพปัจจุบันเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีการเชื่อมต่อกัน
ดังนั้นมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชมองว่าหากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพต่าง ๆ จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ประชาชนได้ข้อมูลปัญหาด้านสุขภาพที่ถูกต้องมากขึ้น นำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด จึงเป็นที่มาการตั้งศูนย์เตือนภัยสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร โดยเบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยศูนย์เตือนภัยสุขภาพฯ ได้จัดทำรายงานเบื้องต้นข้อมูลด้านสุขภาพคนกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ.2558 ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลด้านสุขภาพให้กับแพทย์และประชาชนที่สนใจ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในการรวบรวมสถิติสุขภาพของคนกรุงเทพทั้งหมดมาไว้ในหนังสือเล่มนี้
“ เป้าหมายของศูนย์เตือนภัยสุขภาพฯ ทำหน้าที่รายงานข้อมูลด้านสุขภาพคนกทม. โดยนำข้อมูลที่ได้จากฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน มาวิเคราะห์ แปรผล รายงานผลออกมา เบื้องต้นทำแค่กทม.ก่อน โดยโครงสร้างการทำงานของศูนย์ฯ จะเป็นรูปแบบคณะกรรมการ มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาดำเนินการ ทั้งนี้หากประชาชนที่ต้องการทราบรายละเอียดข้อมูลด้านสุขภาพ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องการคำปรึกษา ติดต่อได้ที่ อีเมล์ bhac_nmu@nmu.ac.th ” รศ.อนันต์ กล่าว
ด้าน ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ.2554 พบว่าคนกรุงเทพฯเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดย 5 อันดับโรคในเพศชาย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด การติดเชื้อ HIV/AIDs อุบัติเหตุทางถนน และมะเร็งตับ ขณะที่ 5 อันดับโรคในเพศหญิง ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง ต้อกระจก โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเบาหวาน ตามลำดับ นอกจากนี้ สาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับของคนกรุงเทพมหานคร ปี 2549 – 2556 ได้แก่ โรคมะเร็งทุกชนิด โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนกรุงเทพฯ มีอัตราเสียชีวิตสูงกว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ ศูนย์เตือนภัยสุขภาพฯ จึงอยากให้คนกรุงเทพฯ ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพมากขึ้นรวมถึงการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ
ขณะที่ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์เตือนภัยสุขภาพฯ พบว่าสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคนกรุงเทพฯในตอนนี้ คือคนกรุงเทพฯบริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในขณะที่กลุ่มเด็กอายุ 2 – 14 ปี มีการดื่มน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบสูงกว่าประชากรเด็กภาคอื่น นอกจากนี้คนกรุงเทพฯให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายน้อยมากเมื่อเทียบกับทุกภาค ส่งผลให้คนกรุงเทพฯเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ/กล้ามเนื้อหัวใจตาย ไขมันคอเลสเทอรอลในเลือดสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆอีกด้วย
งานประชาสัมพันธ์
โทร 02 244 3860
Email:askans.rector@gmail.com