แบบการบริหารจัดการอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชที่สำคัญ
1. อาคารทีปังกรรัศมีโชติ (อาคารผู้ป่วยนอก 9 ชั้นและที่จอดรถใต้ดิน)
ที่กำลังก่อสร้างบริเวณด้านหน้าของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ริมถนนสามเสน โดยมีระยะเวลาการก่อสร้างทั้งหมด 5 ปี ขณะนี้ได้ดำเนินไปแล้วประมาณ 1 ปี 3 เดือน โดยส่วนแรกอาคารผู้ป่วยนอก ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ส่วนที่สองมี่จอดรถใต้ดิน จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี อาคารหลังนี้ มีทั้งหมด 9 ชั้น เป็นชั้นใต้ดินจำนวน 3 ชั้น ชั้นบนดินจำนวน 6 ชั้น และชั้นลอยอีกจำนวน 1 ชั้น
เป็นศูนย์รวมของห้องตรวจ หน่วยบริการของผู้ป่วยนอกทั้งหมดของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ยกเว้นห้องตรวจเวชศาสตร์ฉุกเฉิน นอกจากนี้บริเวณชั้น 6 ยังมีห้องประชุมขนาดใหญ่อีก จำนวน 2 ห้อง
โดยห้องใหญ่จะมีขนาดประมาณ 2 เท่า ของห้องประชุมใหญ่ชั้น 6 อาคารเพชรรัตน์ ในส่วนของที่จอดรถใต้ดินจะรองรับได้ประมาณ 500 คัน
2. อาคารโภชนาการและหน่วยสนับสนุน
ตามแผนการจะก่อสร้างแล้วเสร็จในราวเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่ทางบริษัทผู้ประกอบการได้พยายามที่จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 อาคารหลังนี้จะมีชั้นใต้ดินจำนวน 1 ชั้น และชั้นบนดินจำนวน 6 ชั้น โดยชั้น 1 เป็นที่ตั้งของฝ่ายโภชนาการ และส่วนของธุรการงานซักฟอก ชั้น 2 จะเป็นที่ตั้งของฝ่ายการคลัง ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายพัสดุ งานธุรการ ชั้น 3 จะเป็นที่ตั้งของฝ่ายการศึกษาและกิจการนักศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ และในชั้น 4 ขึ้นไปจะมีสนามบาสเกตบอล 1 สนาม สนามแบดมินตัน 2 สนาม และห้องฟิตเนสขนาดใหญ่ 1 ห้อง สำหรับนักศึกษาและบุคลากรของทุกส่วนงาน
ในส่วนของชั้นใต้ดินจะมีบริเวณที่จอดรถรองรับรถได้ประมาณ 50 คัน
3. อาคารหอพักแพทย์และพยาบาล
จะมีห้องพักขนาดประมาณ 44 ตร.ม. จำนวน 220 ห้อง คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้วางแผนให้บุคลากรและนักศึกษาแพทย์ที่เป็นเพศหญิงเข้าพักอาศัย โดยบุคลากรหลักที่จะเข้าพักได้แก่ พยาบาลวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติงานผลัดบ่ายและดึก และมีที่จอดรถใต้ดิน 2 ชั้นสามารถจอดรถได้ประมาณ 150 คัน โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง
4. อาคารเวชภัณฑ์กลาง
จะใช้เป็นที่ตั้งงานเวชภัณฑ์ปลอดเชื้อ สำนักงานของหน่วยสนับสนุน ได้แก่ งานเวชสถิติ งานย่อยต่างๆ ในสังกัดงานผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ เป็นต้น
5. อาคารวชิรานุสรณ์ (ตึกเหลือง)
ทางคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลวางแผนไว้จะใช้อาคารดังกล่าว เป็นสถานที่สำหรับเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์ประวัติความเป็นมาของวชิรพยาบาลและมหาวิทยาลัย ห้องรับรอง และที่ทำงานของคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล โดยมีระยะเวลาในการปรับปรุงประมาณ 1 ปี ขณะนี้ได้ผู้รับจ้างแล้วอยู่ระหว่างการรอเงินงวดจากกรุงเทพมหานคร
เมื่อได้รับจัดสรรเงินงวดแล้วก็จะสามารถลงนามในสัญญาและส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างต่อไป
6. อาคารริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (วังสามเสน)
ใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานสภามหาวิทยาลัย วิทยาลัยพัฒนามหานคร รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นทิวากรณ์วงศ์ประวัติและราชสกุลเกษมศรี รวมไปถึงห้องรับรองและห้องจัดเลี้ยงในกิจกรรมต่างๆ
7. อาคารบนพื้นที่เช่า ซอยสามเสน 13
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมอาคารจากมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ โรงเรียนโยนออฟอาร์คบริหารธุรกิจ (เดิม) โดยทำสัญญาเช่าระยะยาวเป็นเวลา 30 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ที่ดินและอาคารเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ดังนี้
8.1 ใช้เป็นสถานที่ตั้งของวิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมืองและใช้เป็นสถานที่สำหรับการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรอนุปริญญา 2 หลักสูตร ได้แก่ อนุปริญญา สาขาการพัฒนาเด็กปฐมวัย และอนุปริญญา สาขาเทคโนโลยีระบบราง
8.2 ใช้เป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ ที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยจะใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนของนักศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ หลักสูตรฝึกอบรม และหลักสูตรต่าง ๆ ทางสายวิชาชีพหรือปฏิบัติการที่จะมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต
8.3 ใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 เป็นการชั่วคราวก่อนที่จะย้ายไปยังอาคารบริการวิชาการ ที่วังสามเสนเมื่อการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ
8.4 การจัดตั้งคลินิกชุมชนของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เพื่อรองรับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง รวมไปถึงบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย
8.5 โครงการย้ายศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโครงการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
8. อาคารบริการวิชาการ(วังสามเสน)
อาคารดังกล่าวมหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ร่วมวางแผนให้เป็นสถานที่สำหรับจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาโดยแบ่งออกเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในทุกหลักสูตร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตและวิทยาศาสตร์บัณฑิต (สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต และเป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี ห้องตรวจผู้ป่วยนอกเฉพาะโรค สถานที่สำหรับตรวจสุขภาพ และมีห้องประชุมขนาดใหญ่ 1 ห้อง มีที่จอดรถใต้ดิน 100 คัน โดยมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี