การสร้างอัตลักษณ์ในองค์กร

ดร.พิจิตต รัตตกุล : การสร้างอัตลักษณ์ในองค์กร
สัมนาวิชาการมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
4-5 ก.ค.57 ณ โรงแรมเมธาวลัย ชะอำ

คำว่า อัตลักษณ์‘ ในองค์กร ความจริงแล้วในแต่ละมหาวิทยาลัยก็แตกต่างกันไป แม้แต่เรื่องความเข้าใจก็แตกต่างกัน บางองค์กรเข้าใจว่าหมายถึงวัฒนธรรมประเพณี บางคนก็เข้าใจว่าไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี เพราะฉะนั้น ถ้าคำนี้แตกต่างทั้งเรื่องของความเข้าใจและเรื่องของความหมายของแต่ละสถาบันแล้วจึงคิดว่า ในฐานะสมาชิกของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชน่าจะลองมาช่วยกันหาความหมายเพื่อให้เข้าใจความหมายตรงกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความถ่องแท้หรือปฏิบัติตามอัตลักษณ์ที่ว่าด้วย จิตอาสา
ก่อนอื่นเรามาช่วยกันตั้งใจว่า เราจะอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่ไม่ใช่เป็นแค่ ‘อีก’ มหาวิทยาลัยหนึ่ง แต่เราถ้าลองตั้งใจที่จะ ‘เป็น’ มหาวิทยาลัยซึ่งมีความแตกต่าง และไม่ใช่เรื่องที่หลอกตัวเองว่ามีความแตกต่าง คือ เริ่มตั้งแต่กฎหมายหรือพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยก็บอกแล้วว่า มีข้อแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆในประเทศไทย เพราะบอกไว้ชัดเจนว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับเมือง ดังนั้น เราจึงแตกต่างจากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ศรีนครินทรวิโรฒ มหิดล เราแตกต่างอย่างสิ้นเชิงตรงที่เราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเมืองแห่งแรกในประเทศไทย เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าเราจะเป็นอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ต่อแถวเข้าคิวยาวๆจากมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว..เราไม่ใช่
คำว่าเป็น มหาวิทยาลัยแห่งเมืองก็มีนัยยะอย่างยิ่ง อย่างแรกแรกที่สุดคือจะเป็นคล้ายๆกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเรารู้แล้วว่าสิงคโปร์นั้นเป็น City State หรือเมืองที่ทำหน้าที่เสมือนประเทศ เพราะสิงคโปร์มีประชากรประมาณ 6 ล้านคนและเป็นเมืองทั้งเกาะหรือเป็นประเทศทั้งเกาะ ดังนั้น ถ้าเทียบจริงๆแล้ว กรุงเทพมหานครที่เขาให้เราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเทพก็อาจจะคล้ายๆว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยแห่ง City State ก็ได้ ดังนั้น เมื่อเราคล้ายๆกับสิงคโปร์ จึงไม่ใช่การทำเรื่องการศึกษาในหลายระดับ แต่เราจะต้องทำเรื่องที่ครอบคลุมกับความต้องการของ City State หรือเมือง นั่นคือภารกิจหรือหน้าที่แรกของเรา
ประการต่อมา เรามาช่วยกันตั้งใจทำความเข้าใจกับตัวเองว่า เราจะทำหน้าที่ตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ว่าเราจะแก้ปัญหาของเมืองโดยส่วนรวม ดังนั้น เราจะไม่มีการเรียนการสอนเรื่องรัฐศาสตร์ เรื่องนิติศาสตร์ เพราะมันเป็นสาขาวิชาที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทั้งประเทศต้องมี เพราะฉะนั้นภารกิจของเราที่จะแก้ปัญหาของเมืองเป็นหลักจะต้องดูว่ามีอะไรบ้าง อัตลักษณ์ของเราก็คือต้องเข้าใจว่าเมืองมีปัญหาอะไรเพราะเราต้องทำหน้าที่ช่วยเมืองแก้ปัญหา ถ้าเราไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไรแก้ไม่ได้
ประการที่สาม เราจะตั้งใจว่าจะสร้างคนทำงานให้กับเมือง ภารกิจของเรากำหนดไว้ชัด เพราะฉะนั้น City State แห่งกรุงเทพมหานครหน้าตาจะกลายเป็นอะไรในวันข้างหน้าเราจะมีส่วนร่วม เราจะไม่ให้เมืองนี้เดินตามยะถากรรมไปในวันข้างหน้า แต่ต้องมีบุคลิกไม่อย่างนั้นคนก็ไม่มาเที่ยวเมืองเรา เราไม่ภาคภูมิใจหรือเราอาจจะย้ายไปอยู่เมืองอื่นนานแล้ว แต่ที่เราอยู่ที่นี่ มีคนมา มีแหล่งธุรกิจ เป็นศูนย์กลางการค้าอาเซียน เพราะเรามีบุคลิกพิเศษของเมือง แต่เมืองจะไปเป็นอะไรต่อไปหรือจะประสบปัญหาอะไรในวันข้างหน้าเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่มหาวิทยาลัยเราจะต้องร่วมรับผิดชอบทั้งทางด้านเทคโนโลยีซึ่งหมายถึงด้านสุขภาพ ด้านการรักษา ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านการจัดการผังเมือง ด้านที่อยู่อาศัย หรือกระทั่งความปลอดภัยก็ตาม

เมืองจะเป็นอย่างไรไม่ได้ขึ้นกับผู้ว่า กทม. แต่ขึ้นอยู่กับคลังสมองของเมืองที่อยู่ที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ถ้าเราตั้งใจว่าจะเป็นอย่างนี้ อัตลักษณ์จะสะท้อนออกมาชัดเจน ไม่ใช่แค่ที่กำหนดมาจากองค์กร แต่จะมีความหมายให้เมืองเป็นอย่างที่เราต้องการ

เรื่องต่อมาคือ ด้านสังคมทั่วไปที่อยู่กันในเมืองหรือเรื่องของการอยู่รวมกันอย่างมีระเบียบแบบแผน เราตกลงในการอยู่ร่วมกันอย่างไร คนเมืองอื่นมองมาจะรู้ว่าที่นี่จะต้องเป็นอย่างนี้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องช่วยทำให้เมืองมีบุคลิกภาพทางการจัดการในระบบทางสังคมเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน เช่น เรื่องของวิทยาลัยคนเมือง เรื่องความรับผิดชอบต่อพื้นที่สาธารณะ เรื่องการต้อนรับขับสู้ ยืดหยุ่น มีน้ำใจ และมีความเอื้ออาทร แต่ถ้ามหาวิทยาลัยเราบอกว่าเรื่องของเมืองเป็นเรื่องของผู้ว่า กทม. อันนี้ก็ถือว่าผิดเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การก่อตั้งมหาวิทยาลัย อีกเรื่องหนึ่งคือส่วนประกอบของเมืองที่จะเดินหน้าต่อไปในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจหรือความเป็นอยู่ของผู้คน เราต้องมีส่วนในเรื่องความรับผิดชอบระบบเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของคนที่อยู่ในเมือง ไม่ใช่เรามีอะไรทุกอย่างเรียบร้อยแล้วแต่ถ้าคนหิว อดอยาก คนก็จะละเลยการใช้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยู่ๆมันคงไม่เกิดขึ้นได้ มันต้องทำให้เกิด ส่วนที่สำคัญคือเราที่เป็นมันสมองของเมือง กรุงเทพจะต้องเป็นเมืองที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับการที่เราผลิตคนไปทำงานและพัฒนาการศึกษาได้

ประการที่สี่ พื้นเพของเมือง เดิมคือความยุ่งเหยิง การเอาตัวรอด ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น การต่อสู้ที่ปะปนไปกับความก้าวร้าว ความขาดน้ำใจ การแก่งแย่งช่วงชิงสมบัติสาธารณะมาเป็นของตัว นี่คือความยุ่งเหยิงของสังคมที่อยู่แน่นๆ สภาพสังคมเป็นแบบนี้ มหาวิทยาลัยของเราจะต้องนำร่องให้วิถีเมืองหลบหลีก เลี่ยงจากพฤติกรรมดังกล่าวไม่ให้มีลักษณะยุ่งเหยิง แม้ว่าเมืองจะพัฒนาทางเทคโนโลยี มีคนที่ผลิตไป มีหมอ มีนักจัดการเมือง เศรษฐกิจก็ดีแล้ว แต่เมืองยังยุ่งเหยิง จิตใจของคนยังยุ่งเหยิง ตราบนั้นถือว่ามหาวิทยาลัยยังไม่ได้ช่วย กทม. หรือช่วยเสาชิงช้า

เรามาคุยเรื่องจิตอาสาซึ่งสำนักงานอธิการบดีได้เตรียมมาให้พูดหลายเรื่องแต่คงไม่ได้พูดตามที่เตรียมเลย แต่ที่ไปกันได้ก็ตรงที่ว่า ในเมื่อความยุ่งเหยิงของเมืองเกิดขึ้น มีความจำเป็นที่เราต้องมีอัตลักษณะของเราที่อุดมไปด้วยจิตอาสา ความหมายในขณะนี้คือเราเห็นชัดๆว่าเป็นการสกัดความยุ่งเหยิงที่จะเกิดขึ้นเหล่านั้น ถ้าเราเป็นสถานที่จะสกัดความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นเหล่านั้นตัวเราเองก็ต้องเป็นบุคคลที่ถือเรื่องเหล่านี้เป็นหลัก

อันสุดท้ายคิดว่า เราต้องตั้งใจว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่โปร่งใส แต่ความจริงคำนี้คืออะไร คำนี้ในที่นี้คือกล้าที่จะพูดจากันอย่างเปิดเผยปราศจากเงื่อนงำและเพทุบายในการที่จะตักตวงเอาผลประโยชน์ส่วนตน คำว่าโปร่งใสในที่นี้ถ้าพูดกันถึงประโยชน์ขององค์กรแล้ว เราก็สามารถจะเอ่ยปากยืนบนเวทีพูดได้อย่างเต็มปาก แต่ถ้าเป็นประโยชน์ส่วนตนแล้วมันไม่สามารถที่จะยืนพูดบนเวทีอย่างเปิดอกหรือโปร่งใสได้

คำว่าโปร่งใสขอเพิ่มเติมว่า มันหมายความถึงเจตนารมณ์ไม่ได้หมายถึงพฤติกรรมอย่างเดียว หมายถึงเจตนารมณ์ในหัวจิตหัวใจของเรานั่นเอง เพราะฉะนั้นบุคลากรของมหาวิทยาลัยนี้ต้องตั้งอกตั้งใจว่าจะเริ่มต้นที่เป็นองค์กรที่โปร่งใส ว่องไว ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราทั้งในส่วนของประเทศและภูมิภาคหรือแม้จะเป็นหนึ่งก้าวล่วงหน้าในสังคมและพร้อมใจที่จะสละประเพณีที่ล้าหลัง

การสละประเพณีที่ล้าหลังเป็นสิ่งที่เราจะนำไปสู่การทำความคิดความรู้สึกไปสู่อนาคตข้างหน้าได้ วัฒนธรรมกับอัตลักษณ์ความจริงมีอะไรที่คร่อมๆกันอยู่ อย่างวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสติหรือราชภัฏสวนสุนันทาเวลาเจอกันต้องไหว้ทักทายกัน อันนั้นถือเป็นประเพณีที่ดีงามไม่ล้าหลัง ประเพณีที่ล้าหลังคือประเพณีที่ไม่รับไม่ฟังกัน ประเพณีที่บอกว่าผู้ใหญ่พูดเด็กต้องฟัง ผมคิดว่าเป็นประเพณีที่ล้าหลัง การพูดด้วยเหตุและผลเอามาชั่งน้ำหนักเป็นประเพณีที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความโปร่งใส ทำให้เกิดความว่องไวแล้วก็เป็นองค์กรที่อุดมไปด้วยความคิดที่หลากหลาย

กว่าเราจะมานั่งอยู่ที่นี่ เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย แม้แต่นักศึกษาที่ฟันฝ่าเข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นถ้าเรามาถึงตรงจุดนี้แล้ว เรามาช่วยกันตั้งใจว่า ปัญญาของเราที่สามารถเปิดรับให้เกิดการถกเถียงแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายคือสิ่งที่เราปรารถนาจริงๆ เพราะปัญญาที่หลากหลายเป็นร้อยเป็นพันจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าปัญญาของคนใดคนหนึ่งที่เราต้องเดิมตาม นโยบายก็เป็นเรื่องนโยบาย แต่การพัฒนานโยบายต้องประกอบจากการหารือและวางแนวให้เกิดการปฏิบัติการในกรอบนโยบาย ไม่ใช่ในวิธีปฏิบัติ ไม่ใช่ในรายละเอียด

คิดว่าองค์กรของเราจำเป็นที่ต้องระดมปัญญาของเรามาสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับองค์กร เราจะเรียกตัวเองว่าสถาบันแห่งเหตุผลได้ไหม อัตลักษณ์ของเราจะเป็นสถาบันแห่งเหตุผล คำนี้ไม่มีศัพท์ในภาษาไทยแต่ความเข้าใจของเราคืออันนี้ ถ้าเราเข้าใจ ‘จิตอาสา’ ที่เรากล่าว มันสะท้อนความตั้งใจตรงนี้ไหม คำนี้พูดก็ไม่ได้ เขียนก็ไม่ได้ แต่มันอยู่ในใจ และเมื่อมันอยู่ในใจมันก็สามารถไปถ่ายทอดอัตลักษณ์ที่เกิดจากความเข้าใจนี้ไปสู่คนอื่นที่ไม่ได้มาในวันนี้ได้

เรื่องสุดท้ายที่จะเล่าให้ฟังคือ กระทรวงทบวงกรมของเรามีมากมาย ก่อตั้งกันมาเป็นร้อยปีและทุกกระทรวงมีประเพณีปฏิบัติของตัวเองที่ชัดเจนจนพยากรณ์ได้ว่าอะไรจะเป็นอะไร แต่วันดีคืนดีมีกระทรวงหนึ่งตัดสินใจจะแปรเปลี่ยนความเข้าใจหรือพฤติกรรมขององค์กรแตกต่างไปจากเดิมซึ่งหลายคนก็แปลกใจ แต่ผมก็ยังชื่นชมว่ามีความก้าวหน้าในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามีความเข้าใจแต่ขาดความกล้าหาญในความเปลี่ยนแปลงแล้วนั่นไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเราพัฒนาความคิดความอ่านมาแล้วและเรามั่นใจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยนั่นแหล่ะจิตอาสาที่เป็นอัตลักษณ์ เอ่ยให้ฟังเลยว่ากระทรวงนั้นคือกระทรวงต่างประเทศ ปกติถ้าใครซีแปดแล้วต้องไปซีเก้า สิบ สิบเอ็ด เป็นคอขวดวิ่งไปปลัดกระทรวง แต่ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศคิดใหม่ว่าซีสิบเอ็ดซึ่งเป็นปลัดกระทรวงแล้วสามารถพลิกกลับลงมาเป็นทูตได้ หลายคนบอกให้รางวัลกับผู้เกษียณ แต่ผมคิดว่าเบื้องต้นเขาคิดว่าเป็นองค์กรที่มีไดนามิคหรือมีจุดยืดหยุ่นไม่ตายตัวที่ทำให้องค์กรเกิดปัญหา

ถ้าทุกอย่างไปเรียวตรงไปที่ปลัดกระทรวง ความไม่กลมเกรียว แตกร้าว ความไม่ทันต่อโลกนี้ก็จะเกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นกระทรวงบัวแก้วเก่าๆ แต่ขณะนี้เป็นกระทรวงที่มีไดนามิค มีความก้าวหน้า

ที่พูดยาวทั้งหมดเพื่อลงท้ายจุดเดียวว่า ความเข้าใจว่าจิตอาสานั้นเพียงแค่ตอบสนองการเสนอตัวช่วยผู้อื่นนั่นก็คงเป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น แต่ถ้าโยงใยจิตอาสาซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของเรากับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย โยงกับเมือง โยงกับความต้องการของเมือง โยงกับสถานการณ์ต่างๆแล้ว จะทำให้เราเข้าใจถ่องแท้มากยิ่งขึ้นกว่าการที่เขียนคำว่า ‘จิตอาสา’ เพียงเท่านั้น

งานประชาสัมพันธ์
โทร 02 244 3860
Email:askans.rector@gmail.com

Posted by & filed under ข่าวประชาสัมพันธ์.