ประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนแม่บทพัฒนางานวิจัย

มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนแม่บทพัฒนางานวิจัย

วันที่ 17 ก.ค. 2557 ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร

 รุกทำแผนแม่บทพัฒนา ‘วิจัย’ ส่งเสริมฯชี้ ‘งานมุ่งเป้า’ ตอบโจทย์เมือง – สังคม มีโอกาสได้ทุน

งบวิจัย 9 ล้านรอหนุน

ดร.พิจิตต รัตตกุล อธิการบดี กล่าวมอบนโยบายและแผนพัฒนางานด้านวิจัยว่า งานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญและเรากำลังก้าวหน้าเดินไปสู่เรื่องเหล่านี้ ในปีที่ผ่านมาคณะแพทยศาสตร์มีงานวิจัยทั้งสิ้น 96 โครงการ หลายงานได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ส่วนคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์มี 22 โครงการ ต่อจากนี้อยากให้คณะทำงานด้านส่งเสริมงานวิจัยรีบเร่งสื่อสารเรื่องขั้นตอนกระบวนการอย่างง่ายๆเพื่อให้ประชาคมของเราได้รู้ว่าเราจะต้องเดินอย่างไร ทั้งนี้ หากมหาวิทยาลัยสามารถออกระเบียบการใช้เงินเพื่อการวิจัยและเสนอไปยังกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ก็จะได้งบประมาณ 9 ล้านบาท มารอเอาไว้ซึ่งจะดีใจมากๆ หากมีคนมาสมัครใช้งบวิจัยนี้และถ้ามีสัญญาณว่าเรื่องนี้ไปได้เร็วแบบมีคุณภาพ ก็จะทำให้สามารถบอกต่อสภากทม. เพื่อของบประมาณเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต

อธิการบดี ยังกล่าวอีกว่า เข้าใจว่าบุคลากรของมหาวิทยาลัยต้องทำทั้งการสอน การบริการ และงานวิจัย เวลาจึงมีจำกัดจำเขี่ยมาก แต่ต่อไปอาจมีนักศึกษามาช่วยทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระของคณาจารย์ได้และคงต้องให้แต่ละภาควิชาไปดูโครงสร้างภายในเพื่อแบ่งเวลามาควบคุมการวิจัยได้ นอกจากนี้ การกำหนดหัวข้องานวิจัยก็เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งนอกจากศักยภาพของนักวิจัยแล้วคงต้องมีส่วนประกอบที่ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองควบคู่ไปด้วย

ในเรื่องการส่งเสริมศักยภาพบุคลากร ดร.พิจิตต กล่าวว่า คงต้องมีการส่งคนออกไปอบรมหรือเรียนในหลักสูตรระยะสั้นมากขึ้น ส่วนเรื่องการศึกษาดูงานระยะสั้นนั้นไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่เพราะแตกต่างจากหลักสูตรระยะสั้นที่สร้างความชำนาญการเฉพาะด้านและมีผลงานออกมาให้เห็น อย่างไรก็ตามขอให้กำลังใจบุคลากรช่วยกันทำให้มีบรรยากาศที่วิ่งเข้าสู่งานวิจัยที่มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

วางตัว ‘นักจัดการการวิจัย’

สำหรับในช่วงท้ายของการประชุมช่วงเช้า ดร.พิจิตต ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การวิจัยร่วมน่าจะเป็นยุทธศาสตร์วิจัยอีกเรื่องของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะการร่วมกับกับ กทม. เพราะ กทม.ไม่มีเวลาวิจัยแต่จะสะท้อนโจทย์มาที่มหาวิทยาลัย ซึ่งถ้ามหาวิทยาลัยวางตัวเป็น ‘นักจัดการการวิจัย’ ก็น่าจะช่วยได้ ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ เพิ่งฝากโจทย์มาว่า อยากให้มหาวิทยาลัยตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและการกู้ภัย หลักสูตรแบบนี้เชื่อว่ามหาวิทยาลัยทำได้โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ อีกเรื่องที่คิดว่าควรจะมีคือรางวัลสำหรับผู้ทำงานวิจัยหรือตำราเพื่อสร้างแรงจูงใจ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเรื่องระบบมาตรฐานที่ใช้ยังมีไม่มาก เช่น มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) คิดว่ามหาวิทยาลัยควรมีการสร้างมาตรฐานของมหาวิทยาลัยเองในลักษณะนี้ด้วย

เกณฑ์ชี้มหา’ลัยยังอ่อนหลายด้าน

ในช่วงต่อมา น.ส.บุษบา ศุภวัฒน์ธนบดี ฝ่ายส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล บรรยายในหัวข้อ ‘กรอบทิศทางการจัดทำแผนแม่บท’ ว่า ที่ผ่านมางานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยแทบไม่มี คือมีเพียงของคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์เรื่องหุ่นน้ำเหลืองเท่านั้นที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ในขณะที่ระบบการคุ้มครองสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรก็ยังไม่มีเช่นกัน อาจเป็นเพราะเราไม่ค่อยมีนวัตกรรม ในขณะที่นักวิจัยที่จดสิทธิบัตรก็กลายเป็นต้องทำในนามส่วนตัวจึงไม่ถูกนับประเมิน แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์การประเมินเกี่ยวกับงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

อีกหลักเกณฑ์การประเมินหนึ่งซึ่ง น.ส.บุษบา มองว่าสำคัญที่สุดคือ ผลงานวิชาการที่ได้รับการรับรองคุณภาพหรือ ‘ตำรา’ ซึ่งที่ผ่านมามีการผลิตออกมาค่อนข้างน้อย แต่มักจะออกมาในรูปบทความมากกว่า เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้ก่อตั้งขึ้นจากการเป็นสถานศึกษามาแต่แรกแต่มาจากฐานการบริการ ยกเว้นคณะพยาบาลศาสตร์เท่านั้นที่มีฐานมาจากวิทยาลัยพยาบาล

น.ส.บุษบา กล่าวว่า เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอีกหลักเกณฑ์การประเมินที่ยังเป็นจุดด้อยของมหาวิทยาลัย ซึ่งคงต้องมาค้นหาตัวเองว่าอะไรคือภูมิปัญญาของเรา เพราะเราไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นที่อย่างภาคใต้ที่อาจพูดเรื่องประมงพื้นถิ่นหรืออีสานมีเรื่องหม่อนไหมได้ ส่วนอีกเกณฑ์หนึ่งคือจำนวนของงานวิจัยและการดึงแหล่งทุนจากภายนอกเข้ามา แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีแพทย์ไปทำวิจัยร่วมกับบริษัทยา แต่บริษัทจะต้องนำผลงานวิจัยนั้นไปใช้ มหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถนำออกมาตีพิมพ์ได้งานวิจัยเหล่านั้นก็ไม่ถูกนับในการประเมิน ในขณะที่งานวิจัยในลักษณะที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือในงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยอื่นๆก็มีน้อย ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยไม่มีระบบรองรับเรื่องเหล่านี้ แต่ก็เป็นสิ่งที่คณะทำงานด้านส่งเสริมการวิจัยจะพยายามทำให้เกิดขึ้น

วิเคราะห์ AEC พา ‘โจทย์วิจัย’ เปลี่ยน 

น.ส. บุษบา ยังกล่าวถึงแนวทางต้องเดินต่อไปว่า อันดับแรกคือการทำ SWOT Analysis หรือวิเคราะห์ศักยภาพหาจุดอ่อนจุดแข็ง อีกเรื่องที่ต้องมองคือโอกาสและผลกระทบต่างๆ โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาอันดับแรกคือนโยบายของภาครัฐ ทั้งนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนในทุกด้านและทุกระดับไม่เว้นแม้แต่นักวิจัยดังที่ไม่นานนี้วิศวกรด้านพลังงานของไทยที่รู้จักและทีมงานได้ย้ายไปทำงานที่บรูไนเพื่อทำวิจัยเรื่องพลังงานทดแทน เนื่องจากทางบรูไนทุ่มงบประมาณในด้านนี้เพื่อรับมือในอีก 20 ปีข้างหน้าหากน้ำมันของเขาหมดไป ในขณะที่งานด้านนี้ไม่มีในเมืองไทย ดังนั้น จึงต้องมาคิดต่อว่าโจทย์วิจัยในอนาคตข้างหน้าจะเปลี่ยนหรือไม่

ทิศทาง ‘แหล่งทุน’

น.ส.บุษบา ยังกล่าวถึงประเด็นการได้มาซึ่งงบประมาณการวิจัยด้วยว่า หากมองถึงแหล่งทุนการวิจัยจากภายนอกที่มหาวิทยาลัยคาดหวังเป็นหลัก ที่ผ่านมาคือทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ(วช.) แต่หากพิจารณาจากยุทธศาสตร์งานวิจัยแห่งชาติจะพบว่าหน่วยงานดังกล่าวกลับได้รับงบประมาณเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี ในขณะที่ถ้าเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้การจัดสรรงบประมาณด้านนี้มากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี ดังนั้น งานวิจัยที่ วช.จะให้งบประมาณในอนาคตก็คือ งานวิจัยที่มุ่งเป้าตอบโจทย์ศักยภาพและการพัฒนาสังคมไม่ใช่งานวิจัยที่ตอบโจทย์ตนเอง

ทั้งนี้ น.ส.บุษบา ระบุว่า งานวิจัยที่คาดว่าจะได้ทุนวิจัยต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพัฒนาการการศึกษา เช่น Self learnnig หรือเรื่องการปฏิรูประบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องอื่นๆที่น่าจะได้รับทุนวิจัยก็คืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง งานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของเมือง หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษ เป็นต้น

อีกส่วนงานที่มีงบประมาณและยุทธศาสตร์คือ กทม. แต่หากพิจารณาจะพบว่ายุทธศาสตร์แต่ละด้านของ กทม.มีน้ำหนักไม่เท่ากัน ซึ่งด้านที่ กทม.ให้น้ำหนักมากในปีงบประมาณ 2556 เช่น งานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 28.9 เปอร์เซ็นต์ หรืองานด้านสิ่งแวดล้อมจะได้งบประมาณ 25.54 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับแหล่งทุนจากภายนอกเหล่านี้คงต้องเป็นเรื่องที่มีตัวชี้วัดที่น่าสนใจ เช่น อัตราผู้ป่วยสำคัญที่ป้องกันได้ลดลง อัตราคนเล่นกีฬาและออกกำลังกายที่สูงขึ้น อัตราคนอ่านหนังสือของเมืองเพิ่มขึ้น ระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาหรือจำนวนศิลปวัฒนธรรมที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

Untitled-3

งานประชาสัมพันธ์
โทร 02 244 3860
Email:askans.rector@gmail.com

Posted by & filed under ข่าวประชาสัมพันธ์.