เอเชียหวั่น ‘ไวรัสมรณะ’ ลาม กทม.จับตาใกล้ชิดสถานการณ์ ‘อีโบลา’

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.โรงพยาบาลควีน อลิซาเบธในจอร์แดนกักตัวหญิงชาวฮ่องกงที่ป่วยเป็นไข้สูงหลังเดินทางจากเคนย่า โดยล่าสุดพบว่าไม่ได้ติดเชื้อไวรัสมรณะอีโบล่า อย่างไรก็ตาม เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ รายงานว่าหน่วยงานสาธารณสุขอ่องกงได้เพิ่มมาตรการป้องกันไวรัสอีโบล่าตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.

ไวรัสอีโบลา

ไวรัสอีโบลา

‘ฮ่องกง’ จับตาใกล้ชิด

นายแพทย์ กั๋ว วิงมั่น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขฮ่องกง กล่าวหลังประชุมฉุกเฉินร่วมกับผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อฯว่า ฮ่องกงควรจะเฝ้า ‘เตือนภัยระดับสูง’ กับสถานการณ์ระบาดของไวรัสอีโบลาและเตรียมมาตรการรับมือ เพราะแม้ฮ่องกงจะไม่มีเที่ยวบินตรงจากแอฟริกาตะวันตก แต่เชื้อไวรัสดังกล่าวก็สามารถมาถึงฮ่องกงได้ด้วยเครื่องบินและอีโบลาเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง การเฝ้าระวังติดตามผู้ติดเชื้อในทุกกรณีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ด้านประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อฮ่องกง นายโดมินิก ถัง กล่าวว่า โรงพยาบาลรัฐจะเริ่มรายงานผลตรวจผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการสัมพันธ์ที่น่าสงสัยฯ อาทิ เป็นไข้สูงอย่างฉับพลันภายในช่วง 21 วัน หลังเดินทางจากประเทศที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดในแอฟริกา อีกทั้งจะมีการแยกผู้ป่วยเหล่านั้นระหว่างที่ตรวจผลฯ

กทม.เฝ้าระวัง ชี้ WHO ไม่ประมาท

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงเชื้อไวรัสอีโบลาที่กำลังแพร่ระบาดหนักในทวีปแอฟริกาขณะนี้ว่า โรคอีโบลาเป็นโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง จะมีอาการไข้สูง มีโอกาสตับวายและไตวายได้ง่าย ซึ่งโรคนี้จะติดต่อกันทางสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ทั้งเลือด น้ำมูก น้ำลาย แต่เท่าที่ติดตามจากข่าวทราบว่าขณะนี้ โรคอีโบล่ายังอยู่ในเขตเมือง เช่นที่เชียร์ราลีโอนก็มีคนติดเชื้อ และบางประเทศเริ่มปิดสนามบินป้องกันแล้ว แต่หากผู้ติดโรคอยู่ระหว่างการฟักตัวของเชื้อและมีการเดินทางออกนอกประเทศก็มีสิทธิที่เชื้อจะเผยแพร่ไปยังผู้อื่นได้

นพ.วงวัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก(WHO) กำลังเฝ้าระวังการระบาดของโรคอยู่ โดยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปแล้ว แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังไม่มีมาตรการอะไรพิเศษออกมา ทั้งนี้ หากมีการระบาดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือมีผู้ติดเชื้อออกนอกประเทศก็จะมีมาตรการป้องกันออกมาว่าจะจำกัดการเดินทางหรือไม่ โดยในอดีตหากมีโรคระบาดชนิดใดเข้าใกล้ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขก็จะมีมาตรการป้องกันและควบคุม 3 เรื่อง คือ 1.แจ้งเตือนประชาชน 2.วางระบบคัดกรองที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งหมด และ 3.เฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยตามโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมเก็บตัวอย่างมาตรวจอย่างละเอียด

นพ.วงวัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและสำนักอนามัย กำลังติดตามและจับตาดูสถานการณ์ ในอดีตก็เคยมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัด 2009 โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก มาแล้วหลายประเทศ เมื่อพบผู้ป่วยก็ต้องมีการแยกไม่ให้ปะปนกับคนทั่วไป เพื่อลดโอกาสการแพร่ของเชื้อ ส่วนโรคอีโบลาก็ยังไม่มีวัคซีน เข้าใจว่าองค์การอนามัยโลกยังไม่ประมาท ถึงแม้การระบาดยังจำกัดในพื้นที่ ตอนนี้ก็ส่งทีมลงไปดูอยู่ ซึ่งโรคนี้ถ้าใครติดเชื้อแล้วจะมีอาการไข้สูง เลือดออกได้ง่าย แต่ไม่มีโรคใดที่ติดแล้วจะเป็นซอมบี้เหมือนในภาพยนต์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีปรากฏการณ์แบบในภาพยนต์แน่นอน

หวั่นระบาดเที่ยวบินนานาชาติ

ด้านหนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟ ฉบับออนไลน์ รายงานเมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) ว่า แพ็ททริค ซอว์เยอร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายไลบีเรีย วัย 40 ปี และเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่เสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ ได้สร้างความวิตกไปทั่วโลก ว่า เขาอาจนำเชื้อไวรัสมรณะไปแพร่ในสหรัฐ แต่เขาเสียชีวิตก่อนขณะอยู่ที่ไนจีเรียระหว่างการเดินทางกลับไปหาครอบครัวในรัฐมินนีโซต้า ของสหรัฐ

ทั้งนี้ ได้มีการเปิดเผยว่า ซอว์เยอร์ได้รับอนุญาตให้เดินทางโดยเที่ยวบินระหว่างประเทศเพื่อกลับไปบ้านที่สหรัฐ โดยเขาทำงานให้รัฐบาลไลบีเรียและกำลังไปเยี่ยมน้องสาว ตอนที่เริ่มมีอาการป่วยคือขณะโดยสารเครื่องบินของไนจีเรีย เขาถูกส่งไปกักโรคทันทีตอนที่เดินทางถึงสนามบินลากอส ของไนจีเรีย ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันศุกร์

ดีคอนที ภรรยาวัย 34 ปีของซอว์เยอร์ กล่าวว่า สามีของเธอมีกำหนดจะเดินทางไปสหรัฐ ซึ่งถ้าไปถึงเขาจะกลายเป็นผู้ติดเชื้ออีโบลาคนแรกที่เอาเชื้อเข้าไปแพร่ในสหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ซอว์เยอร์ติดเชื้อจากน้องสาวที่เขาไปดูแลโดยไม่ทราบว่าเธอติดเชื้ออีโบลา จนกระทั่งเธอเสียชีวิต หลังจากนั้นเขาได้ขึ้นเครื่องบินจากกรุงมอนโรเวียของไลบีเรียไปยังกรุงโลเม่ ของโตโก และขึ้นเครื่องบินต่อไปยังเมืองลากอส ของไนจีเรีย ซึ่งเขาไปหมดสติตอนที่ไปถึงสนามบิน

ทางการไนจีเรีย ได้ปิดโรงพยาบาล เฟิร์สต์ คอนซัลแทนต์ ในเมืองโอบาเลนเด้ ที่เขาเข้ารับการรักษา เนื่องจากที่ตั้งโรงพยาบาล ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่คับคั่งที่สุดของเมืองที่มีประชากรราว 21 ล้านคน ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับผู้โดยสารที่ร่วมเที่ยวบินเดียวกับซอว์เยอร์ ยังไม่ได้รับการเปิดเผย มีรายงานว่า ผู้โดยสารในเที่ยวบินเดียวกับเขาได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับอาการของโรคที่รวมถึงการมีเลือดออกที่จมูกและปาก แต่ก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางต่อไปได้

ทั้งนี้ การที่เชื้ออีโบลามีระยะเวลาในการฟักตัว 21 วัน ทำให้เกิดความวิตกว่า อาจมีคนที่ติดเชื้อและกลายเป็นผู้แพร่เชื้อให้ระบาดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่า ซอว์เยอร์ได้ติดต่อกับผู้คนมากน้อยเพียงใด ในวันที่เขาอยู่บนเที่ยวบินในไลบีเรียและการแวะที่กาน่า เพื่อต่อเครื่องบินไปยังโตโก ก่อนจะไปถึงไนจีเรีย

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข กำลังพยายามติดตามคนที่อาจเสี่ยงติดเชื้อจากซอว์เยอร์ทั่วแอฟริกาตะวันตก รวมทั้งผู้โดยสารและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ตั้งคำถามว่า ซอว์เยอร์ ซึ่งน้องสาวเสียชีวิตเพราะติดเชื้ออีโบล่าได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่องบินออกจากไลบีเรียได้อย่างไร และถ้าเลวร้ายกว่านั้น ไวรัสอีโบลา อาจกลายเป็นโรคร้ายล่าสุดที่แพร่ระบาดโดยการเดินทางระหว่างประเทศได้

การแพทย์ยุโรปตื่นตัวรับการระบาด ‘อีโบลา’

ด้านหน่วยงานด้านการแพทย์ทั่วยุโรปต่างเตรียมพร้อมในระดับสูงเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของไวรัสอีโบลา ท่ามกลางรายงานข่าวที่ว่า โรงพยาบาลในเยอรมนี ได้ยอมรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไว้ทำการรักษา 1 คน ตามคำร้องขอเป็นกรณีพิเศษจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแอฟริกาตะวันตก พุ่งเกินกว่า 670 คนแล้ว และแพทย์กำลังพยายามยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในประวัติศาสตร์

ในขณะที่มีการคาดการกันว่า ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่เยอรมนี อาจเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญไวรัสอีโบลาระดับแถวหน้าของโลกนั้น คณะแพทย์ในเยอรมนีได้ยืนยันไม่มีความเสี่ยงที่เขาจะเป็นผู้แพร่เชื้อแต่อย่างใด โดยเขาได้รับการรักษาที่หอผู้ป่วยแยกพิเศษ ที่มีการปิดล็อคอากาศถึง 3 ชั้น และอากาศภายในหอผู้ป่วยก็จะมีแรงดันต่ำกว่าภายนอก และไม่สามารถเล็ดรอดออกไปได้ แม้ว่าจะเชื้อไวรัสอีโบล่าจะไม่สามารถติดต่อได้ทางอากาศก็ตาม

ส่วนทีมแพทย์และพยาบาลที่ต้องติดต่อกับผู้ป่วยต้องสวมชุดป้องกันเต็มที่ ติดอุปกรณ์ให้อ็อกซิเจนในตัวและต้องเปลี่ยนชุดทุก 3 ชั่วโมง ก่อนที่ชุดจะถูกนำไปเผาทิ้ง การเตรียมการป้องกันในระดับสูงสุดได้บ่งชี้ให้เห็นระดับถึงความวิตกต่อไวรัสอีโบลาที่สามารถแพร่กระจายโดยการสัมผัสโดยตรงของเลือดหรือของเหลวในร่างกาย รวมทั้งเหงื่อและน้ำลาย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดออกภายในอย่างรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่า ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่เยอรมนีได้อย่างไร ขณะที่มีรายงานว่า เขาป่วยเกินกว่าจะเดินทางได้และไม่มีการเปิดเผยชื่อของเขา แต่ยืนยันว่าเป็นชาวเซียร่าเลโอน ท่ามกลางความคาดหมายว่าเขาอาจจะเป็นนายแพทย์ ชี้ค อูมาร์ ข่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสอีโบลา ที่ติดเชื้อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเขาเป็นที่รู้จักว่าเป็นหนึ่งในคณะแพทย์ที่ต่อสู้กับการระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก และต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อเอง และมีรายงานล่าสุดว่า เขาเสียชีวิตแล้ว

สถานการณ์ ‘อีโบลา’

ด้านในเว็ปไซด์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์โรคอีโบลา ประจำวันที่ 29 ก.ค.2557 ว่า จากรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา จากองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2557 โดยพบในประเทศแถบแอฟริกาจำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน รายละเอียด ดังนี้ ประเทศกินี จำนวนที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ 427 คน จำนวนผู้ป่วยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 311 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 319 คน ประเทศไลบีเรีย จำนวนที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ 249 คน จำนวนผู้ป่วยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 84 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 129 คน และประเทศเซียร์ราลีโอน จำนวนที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ 525 คน จำนวนผู้ป่วยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 419 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 224 คน โดยในประเทศไทยยังไม่เคยพบมีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลามาก่อน

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสอีโบลาเริ่มพบครั้งแรกที่ประเทศซูดานเมื่อ พ.ศ.2519 และมีรายงานผู้ป่วยในประเทศยูกันดา เมื่อ พ.ศ. 2543 จำนวน 425 ราย เสียชีวิต 224 ราย นับเป็นการระบาดที่ใหญ่ที่สุดของโรคอีโบลา ต่อมาในพ.ศ.2544 มีรายงานผู้ป่วยในประเทศกาบองและประเทศสาธารณรัฐคองโก จนถึงธันวาคม พ.ศ.2552 มีรายงานผู้ป่วยอีโบลาทั้งสิ้น 1,850 ราย เสียชีวิต 1,200 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 64 ต่อมาในปี 2553 มีรายงานการติดเชื้ออีโบล่าสายพันธุ์เรสตันในสุกรในประเทศฟิลิปปินส์ร่วมกับมีผู้ป่วย 6 ราย ซึ่งเป็นพนักงานในโรงฆ่าสัตว์

เรียบเรียงจาก : คมชัดลึก,astv ผู้จัดการ,กรุงเทพธุรกิจ

งานประชาสัมพันธ์
โทร 02 244 3860
Email:askans.rector@gmail.com

Posted by & filed under ข่าวประชาสัมพันธ์.