ม.นวมินทราธิราช โชว์นวัตกรรมประดิษฐ์เอง รับมือ ‘โควิด-19′
ทีมคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล ประดิษฐ์เตียงย้ายผู้ป่วยความดันลบ ราคาแค่ 6 หมื่นถูกกว่าตลาด 10 เท่า – แจกสูตรแอลกอฮอล์ล้างมือ “อธก.” ย้ำสิ่งประดิษฐ์ง่ายแต่ช่วยป้องกันบุคลากร-แพทย์ หากป่วยเองลดความสามารถในการรักษา
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 ที่ลานเอนกประสงค์ อาคารเพชรรัตน์ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ถ.สามเสน คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาลแถลงข่าวแสดงผลงาน “นวัตกรรมด้านความปลอดภัยเพื่อรับมือ COVID-19 ” โดยโดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ร่วมมืออาจารย์ในส่วนงานอื่นๆ ช่วยกันศึกษา พัฒนาคิดค้นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์แบบง่ายๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน และยังช่วยบรรเทาสถานการณ์การขาดแคลน เวชภัณฑ์ทางการแพทย์บางชนิดได้ซึ่งนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และภาคส่วนที่กี่ยวข้อง ช่วยกันศึกษา พัฒนาคิดค้น
1.ห้องตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (medical negative pressure room) เป็นห้องที่มีการปรับปรุงจากวัสดุที่มีของคณะแพทย์ให้เป็นห้องที่มีแรงดันที่ติดลบมากกว่า 2.5 pka เพื่อให้เหมาะสำหรับตรวจผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อ ป้องกันเชื้อแพร่กระจายสู่ภายนอกโดยอากาศที่ไหลออกจากห้องผ่านกรองเชื้อโรค ระดับ HEPA filter ทำให้อากาศที่ปล่อยออกมาปลอดภัย
2.เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ วชิรพยาบาล (Vajira negative pressure transfer) ซึ่งชุดเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนี้รับน้ำหนักได้ 100-150 กิโลกรัม สามารถทำเองได้ด้วยการนำรถเคลื่อนย้าย (เตียงติดล้อ) ผู้ป่วยแบบทั่วไปที่ใช้ในโรงพยาบาล มาปรับปรุงประกอบโครงเหล็กขึ้นสำหรับคลุมพลาสติกห่อหุ้มเตียงและต่อท่ออะลูมิเนียมควบคุมแรงดันอากาศให้เป็นลบหรือ Negative Pressure ดูดอากาศบริเวณที่นอนของผู้ป่วยผ่านกรองเชื้อโรคระดับ HEPA filter และผ่านการฆ่าเชื้ออีกชั้นด้วยแสง UV เพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้เคลื่อนย้ายและบุคคลภายนอก โดยชุดเตียงเคลื่อนย้ายฯนี้ ค่าใช้จ่าย 60,000 – 70,000 บาทต่อชุด ซึ่งถูกกว่าราคาซื้อทั่วไป 10 เท่าประมาณ 700,000 – 800,000 บาท
โดยขณะนี้มีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนจัดเตียงความดันลบให้แล้ว 8 ชุด พร้อมกระจายให้โรงพยาบาลอื่นๆที่มีความต้องการสามารถติดต่อมาได้ ขณะที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลจะลงวิธีการผลิตนวัตกรรมเหล่านี้ลงในเว็บไซต์สามารถติดตามดูได้เช่นกัน
3.ห้องตรวจคัดกรองและเก็บสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (medical negative pressure chamber)
4.หน้ากากพลาสติกสำหรับป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็นใส่บริเวณใบหน้า (Vajira face shield) ที่ทำจากฟองน้ำ ประกอบแผ่นพลาสติก ตกราคาชิ้นละ 6 บาทถูกกว่าราคาขายท้องตลาดชิ้นละ 160 บาทขณะที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลไว้ได้ 6,000 ชิ้นแล้ว
5.หน้ากากอนามัยแบบผ้าชนิดพิเศษที่มีช่องตรงกลาง สำหรับสอดใส่แผ่นกรองหรือแผ่นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เข้าไปข้างในได้อีกชั้น ซึ่งเหมาะสำหรับสตรีอย่างมากอีกด้วยที่ป้องกันการเปื้อนเครื่องสำอางแต่งหน้าบนหน้ากากอนามัยด้วยโดยสามารถถอดแผ่นกรองเพื่อซักตัวผ้าหน้ากากอนามัยแบบผ้าได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการถนอมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ด้วย
6.การผลิตแอลกอฮอล์ล้างมือด้วยวิธีการง่าย ๆ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกด้วย โดยไม่ต้องผสมเจลให้สิ้นเปลือง ซึ่งวิธีการผลิตให้ 1. ตวง Alcohol 95% ปริมาณ 1,684 ml ลงในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ 2.ตวง Hydrogen peroxide 6% ปริมาณ 42 ml ลงในภาชนะที่เตรียมไว้ จากนั้นผสมให้เข้ากัน 3.ตวง Glycerin ปริมาณ 30 ml ลงในภาชนะจากนั้นผสมให้เข้ากันจนได้เป็นสารละลายใส 4. เดิม Flavoring agents ปริมาณ 2 ml ลงในภาชนะและผสมให้เข้ากัน 5.เติมน้ำให้ครบตามปริมาตรสูตรที่ผลิด
โดย ผศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ระบุว่าสิ่งที่นำเสนอวันนี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ ช่วยป้องกัน สร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากร เพราะหากบุคลากรทางแพทย์เจ็บป่วยขึ้นมาหมายถึงการดูแลผู้ป่วยที่จะลดประสิทธิภาพลง ซึ่งสิ่งที่เรานำเสนอวันนี้หากทุกโรงพยาบาลต้องการเราสามารถเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวไปประดิษฐ์และประกอบเองได้อย่างไม่ยาก ประยุกต์ใช้ได้อย่างง่ายดาย
ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ 17 มีนาคม 2563
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871157
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช