วชิรพยาบาล ผุดนวัตกรรมความปลอดภัยรับมือโควิด-19

 

สำนักข่าวไทย

17 มี.ค.-คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คิดค้นนวัตกรรมความปลอดภัย เป็นทางเลือก-ลดความเสี่ยงในการรับมือโควิด-19  เช่น ห้องตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ – เตียงเคลื่อนย้ายแบบแรงดันลบ – ห้องตรวจคัดกรองและเก็บสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ – หน้ากากพลาสติกป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็นใส่บริเวณใบหน้าฯลฯ

รศ.นพ.อนันต์  มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สังกัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้เตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) รวมไปถึงการศึกษาพัฒนาแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยและการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 โดยเฉพาะในบุคลากรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ใน รพ.วชิรพยาบาล มาตลอดระยะเวลา 3  เดือนหลังจากที่มีการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน 

ทีมงานของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ช่วยกันศึกษาพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์แบบง่าย ๆ หลายสิ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน และยังช่วยบรรเทาสถานการณ์ขาดแคลนเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น ห้องตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (medical negative pressure room)

เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบวชิรพยาบาล (Vajira negative pressure transfer)ที่มีต้นทุนการผลิตราว 50,000-60,000 บาท  เมื่อเทียบกับเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้นแบบที่มีราคาสูงถึง700,000 บาท    โดยภาคเอกชนที่สนใจสามารถติดต่อกับวชิรพยาบาล เพื่อผลิตเตียงนี้ได้

นอกจากนี้ยังมีห้องตรวจคัดกรองและเก็บสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (medical negative pressure chamber) , หน้ากากพลาสติกสำหรับป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็นใส่บริเวณใบหน้า (Vajira face shield) , หน้ากากอนามัยแบบผ้าชนิดพิเศษที่มีช่องตรงกลาง และวิธีการถนอมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ,การผลิตแอลกอฮอล์ล้างมือด้วยวิธีการง่าย ๆ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

“นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว สามารถจัดทำขึ้นได้โดยง่าย ในส่วนห้องตรวจหรือเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบได้รับความอนุเคราะห์จากกองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในการให้คำแนะนำและประเมินประสิทธิภาพ และสามารถนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดนี้รวมไปถึงนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยทีมอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยอีกหลายอย่าง จะสามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกในการตรวจรักษาผู้ป่วยและช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้บริบทของสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ทั่วโลกโดยเฉพาะในส่วนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ซึ่งในส่วนการคัดกรองและการรักษาทาง รพ.วชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ดำเนินการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด” รศ.นพ.อนันต์ กล่าว 

ด้าน ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ ผอ.โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้วชิรพยาบาลมีผู้ป่วยอยู่ในเคสต้องสงสัย หรือ PUI อยู่ในความดูแลประมาณ 10 กว่าราย ซึ่งมีระบบแยกผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ปะปนกับผู้ป่วยอื่น หากผลยืนยันเชื้อเป็นบวกจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่เหมาะสม เช่น สถาบันบำราศนราดูร  ขณะที่หากมีความจำเป็นต้องปรับ การดูแลผู้ป่วย ในสถานการณ์ที่อาจเข้มข้นขึ้น วชิรพยาบาลจะสามารถปรับ พื้นที่รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้นเป็น 20 ราย และมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตลอดเวลา –สำนักข่าวไทย

ข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย 17 มีนาคม 2563

https://www.mcot.net/viewtna/5e706621e3f8e40af4429ec4

 

งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

ศูนย์ข่าว      ขอนวัตกรรม

Posted by & filed under ข่าว Covid-19.