ลงนาม MOU นวมินทร์-ราชมงคลพระนคร

 

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 57 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการจัดการศึกษาและวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยมี ดร.พิจิตต รัตตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ รศ.สุภัทรา โกศัยกานนท์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครเป็นผู้ลงนาม

ดร.พิจิตต กล่าวว่า ทั้งสองมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใกล้กันจึงมีอะไรที่จะร่วมมือกันได้มาก ทั้งนี้ ส่วนงานวิทยาลัยชุมชนเมืองแห่งกรุงเทพมหานคร (วชม.) ในสังกัดมหาวิทยาลัยน่าจะมีลักษณะใกล้เคียงชิดกับหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ มากที่สุด โดย วชม.มีหลักสูตรอบรมระยะสั้นสำหรับบุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานครและภาคเอกชน ในขณะที่เรื่องอาชีวศึกษาในประเทศไทย ทางมหาวิทยาลัยราชมงคลฯเคยทำมาไม่น้อยก่อนจะปรับเป็นการเรียนการสอนระดับปริญญา ดังนั้นพื้นฐานความแข็งแรงจึงยังคงอยู่ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนที่ วชม.

“ในส่วนวิทยาลัยฝึกอาชีพทั้ง 10 แห่งของ กทม. มีนักเรียนมาฝึกอาชีพมากมายในแต่ละปี แต่ยังขาด Content ซึ่งในส่วนนี้มหาวิทยาลัยราชมงคลฯ เพื่อนของเรา มีประสบการณ์ด้านวิชาการจะมาเติมเต็ม สามารถทำให้โรงเรียนฝึกอาชีพของ กทม.ทั้ง 10 แห่งได้ประโยชน์สูงสุด”

นอกจากนี้ ดร.พิจิตรยังกล่าวด้วยว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถดึงเอามหาวิทยาลัยราชมงคลฯเข้ามาอยู่ในแวดวงของ กทม. และจะมีส่วนสำคัญในการที่ขับเคลื่อนกทม.ร่วมกันในหลายด้านต่อไปในวันข้างหน้า

ในช่วงท้าย ดร.พิจิตต ยังกล่าวอีกว่า แนวทางของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชคือจะไม่ตั้งสาขาหรือหน่วยงานเพิ่มซ้อนกับที่มีอยู่แล้วใน กทม. แต่เราจะใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้คุ้มค่ากับคน กทม. โดยจะเอาเนื้อหาความรู้เช่นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯมี มาแปลงให้เกิดการประยุกต์เป็นประโยชน์กับเมืองให้มากที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งก็เหมือนเม็ดยาซึ่งการจะรวมกันเป็นเม็ดได้ ต้องมีเยื่อ มีโครงสร้างโพลิเมอร์ที่จะทำให้เป็นเม็ด

“มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชเราจะทำหน้าที่ตรงนี้ระหว่างผู้ใช้ความรู้ในกทม. ชุมชนในกทม. ประชาชนทั่วไป กับองค์ความรู้ที่มีอยู่ตามสถาบันการศึกษาต่างๆเพื่อมาทำเสมือนเป็นเม็ดยาขึ้น และอีกประการเราจะเป็นเสมือนตัวเร่งรัดให้กระบวนการที่มีนำไปสู่การประยุกต์ได้เร็วขึ้น เราไม่ต้องการให้องค์ความรู้อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่เราจะดึงให้ความรู้นั้นไปสู่การใช้เป็นประโยชน์ข้างนอก”

ด้าน รศ.สุภัทรา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้จะได้สร้างบัณฑิตและพัฒนาการศึกษาของชาติให้พัฒนาต่อไป เรื่องวิสัยทัศน์ หรืออัตลักษณ์ของทั้งสองมหาวิทยาลัยเองก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คิดว่าความร่วมมือทั้งหมดจะเป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดได้ ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันทางราชมงคลเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยแล้ว ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จะไม่อนุญาตให้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี    แต่ยังสามารถเปิดรับในรูปแบบโควต้าและเทียบโอนหน่วยกิจของผู้ที่จบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เรียน วชม. ที่จะมาต่อยอดทางการศึกษาด้วย

ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวนโยบายของมหาวิทยาลัยในปีนี้คือ Smart University ที่จะเอาเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอซีทีเข้ามาใช้ เพื่อรองรับการศึกษาในอีก 15 ปี ข้างหน้าที่จะเป็น Cloud Education คนจะมาลงเรียนในห้องจริงอาจน้อยลง เหลือห้องเรียนภาคปฏิบัติที่ต้องมีอยู่ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยกำลังทำแผนแม่บทของกระทรวงศึกษาธิการด้านไอซีทีเพื่อลงไปยังการศึกษาภาคบังคับกว่า 600,000 ห้องเรียนทั่วประเทศ และตรงนี้วิทยาลัยชุมชนเมืองฯ  มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ เพราะต่อไปไอซีทีถูกใช้ในการศึกษาทั้งหมดและเรามีความพร้อมตรงนี้

สำหรับข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้มีรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญสำคัญ ได้แก่  การตกลงให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในด้านการผลิตบุคลากร การให้บริการการศึกษา การเป็นแหล่งเรียนรู้ การผลิตผลงานทางวิชาการ งานวิจัย การสัมมนา การผลิตวารสารทางวิชาการโดยคำนึงถึงประโยชน์ในการพัฒนาเมืองและมหานคร การพิจารณาลดหย่อนค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดเพื่อสนับสนุนการร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีกำหนดระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปี นับแต่วันลงนาม และหากฝ่ายใดมีความจำเป็นที่ไม่อาจปฏิบัติตามได้ จะไม่มีการเรียกร้องให้ปฏิบัติหรือมีค่าเสียหายใดๆ

web 2

งานประชาสัมพันธ์
โทร 02 244 3860
Email:askans.rector@gmail.com

Posted by & filed under ข่าวประชาสัมพันธ์.