S__11165886

บ้านหิมพานต์ หรือ ป๊ากสามเสน สถานที่มีเรื่องราวงดงามทรงคุณค่ายิ่ง

โสมชบา

บ้านสามเสน ที่อยู่มาตั้งแต่เกิดเล็กไป สิบกว่าปีก่อนสองพี่น้อง เรณุมาศ และ ศุภมาส อิศรภักดี จึงย้ายออก แต่ยังรักษาบ้านโบราณแสนสวยไว้อย่างดี เพราะอยากรักษาเป็นมรดกที่ผู้ใหญ่ ของตระกูลสร้างไว้ในสมัยต้นสกุล คือ พระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) บุตรชาย พระพรหมาภิบาล (แขก) สมุหราชองครักษ์ กับ คุณหญิงเลื่อน ซึ่งต่อมา พระสรรพการหิรัญกิจ เลขานุการพระคลังมหาสมบัติ สมรสกับ ทรัพย์ ธิดา พลตรี พระยาอภัยรณฤทธิ์ (เวก ยมาภัย) ขุนนางผู้ใหญ่ในกรมพระตำรวจหลวง เพราะ คุณหญิงเปลี่ยน และ คุณนวลอภัยรณฤทธิ์ ภรรยาพระยาอภัยฯ สนิทกันตั้งแต่ครั้งเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามในรัชกาลที่ 4 จึงให้บุตรธิดาแต่งงานกัน

เมื่อเสนาบดีพระคลังมหาสมบัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย พระอนุชาในรัชกาลที่ 5 ก่อตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของกรุงสยาม และทดลองตั้งธนาคารขนาดเล็ก ที่บ้านหม้อ ชื่อ บุคคลัภย์ (Book Club) เมื่อ พ.ศ.2447 ทรงให้ พระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการ จนกิจการก้าวหน้า จึงตั้งเป็น บริษัทแบงก์สยามกัมมาจลทุน จำกัด แต่ต่อมา ธนาคารขาดทุน พระสรรพการหิรัญกิจ พ้นจากหน้าที่และยศ จึงไปเรียนกฎหมาย และสอบได้ภายใน 1 ปี จึงได้เป็นอัยการหรือทนายหลวง และได้รับพระราชทินนาม อำมาตย์โท พระอรรถวสิษฐสุธี–แม้ตอน บุคคลัภย์ ขาดทุน ทำให้ท่านตกเป็นที่ครหา แต่ในที่สุดก็พ้นมลทินหมดจด โดยหลานปู่ พีระพงศ์ อิศรภักดี เล่าว่า เมื่อ รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล อิศรภักดี แปลว่า ผู้ที่จงรัก ภักดีต่อผู้เป็นใหญ่ ได้รับสั่งกับข้าราชบริพารว่า “ไอ้เชยมันไม่ได้โกงใคร” สร้างความปีติแก่ พระอรรถวสิษฐสุธี และลูกหลานเป็นล้นพ้น–ส่วน บ้านหิมพานต์ ที่งดงามโก้หรู ซึ่งตกเป็นของแบงก์สยามกัมมาจล ต่อมา รัชกาลที่ 6 ทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 240,000 บาท เพื่อจัดตั้งเป็น สถานพยาบาล และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด วชิรพยาบาล เมื่อ 2 มกราคม พ.ศ.2455 และพระราชทานเป็นสาธารณประโยชน์จากนั้นเรื่อยมา

ในโอกาสครบ 110 ปี วชิรพยาบาล ได้บูรณะสถานที่แห่งนี้ด้วยงบ 100 กว่าล้าน เพื่อเปิด ตึกเหลือง เป็นพิพิธภัณฑ์ ตึกวชิราวุธานุสรณ์ ให้เข้าไปชมความเป็นมาของ บ้านหิมพานต์ ซึ่งครั้งหนึ่งหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam ได้กล่าวถึง ขุนนาง สยาม ผู้หนึ่งว่า มีความสำคัญมาก และมีบ้านใหญ่โต สวยงามที่สุดในพระนคร เป็นรองเพียงพระบรมมหาราชวัง เพราะเป็นอาคารแบบ Neo classic ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบ Gothic และ Art Nouveau ฝีมือช่างอิตาเลียนที่เข้ามาทำงานในสยาม ใช้เวลาสร้างระหว่าง พ.ศ.2448-2451

วันขึ้นตึกใหม่ เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ.2451 รัชกาลที่ 5 เสด็จฯพระราชทานน้ำสังข์ พระราชทานพรแก่ พระสรรพการหิรัญกิจ และทอด พระเนตรบ้าน ประทับเสวยน้ำชา และงานขึ้นตึกใหม่ 12 มีนาคม พ.ศ.2451 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) เสด็จฯพร้อมพระบรม วงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ในบ้านยังมี เขาดิน หรือที่เรียกว่า ป๊ากสามเสน ซึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเปิดเมื่อ 1 พ.ย พ.ศ.2451 ก่อนเปิดให้ชาวพระนครไปพักผ่อนหย่อนใจ–บ้านหิมพานต์ จึงเป็นสถานที่มีเรื่องราวงดงามทรงคุณค่าอย่างยิ่ง… ได้เขียนเรื่องนี้ ทำให้ โสมชบา รู้สึกเต็มตื้น เพราะเกิดที่วชิรพยาบาล แต่ปีไหนโปรดอย่าถาม!!

ขอบคุณบทความจาก โสมชบา ของว่างวันอาทิตย์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 30 มกราคม 2565 ปีที่ 73 หน้า 16 (ล่าง)

360_F_125698119_8GhClez9rhYymc0xlZDmaMKb59X0NTyM
เปิดตัวบ้านหิมพานต์ (ตึกเหลือง ตึกชมพู)และ ป๊ากสามเสน (สมัยก่อนเขียนคำว่า park แบบนี้ครับ)
การสร้างบ้านหิมพานต์นี้กินระยะเวลาระหว่าง พ.ศ.2448 – 2451 ซึ่งในการขึ้นตึกใหม่ พระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) และคุณทรัพย์ ภรรยาได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับยังบ้านพระสรรพการหิรัญกิจ เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2451 ทรงพระราชทานน้ำสังข์และพระราชทานพรแก่พระสรรพการหิรัญกิจและคุณทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรในบ้าน และห้องต่างๆ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับบนกระโจมบนเขาดินหลังบ้าน ประทับเสวยน้ำชาแล้วจึงเสด็จกลับ
งานขึ้นตึกใหม่มีในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2451 เวลายามหนึ่ง พระสรรพการหิรัญกิจได้อัญเชิญพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาในงาน และขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน
นอกเหนือจากตัวบ้านหิมพานต์ซึ่งใช้เป็นบ้านพักของพระสรรพการหิรัญกิจแล้ว บริเวณด้านหลังของบ้าน ยังได้สร้างเขาดินขนาดใหญ่ และเรียกว่า ป๊ากสามเสน สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พบปะสังสรรค์ของชาวพระนคร ในการเปิดป๊ากสามเสนนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 โดยป๊ากสามเสนนี้มีการเก็บค่าเข้าชมเป็นรายครั้งและรายปี มีการประชาสัมพันธ์ป๊ากสามเสนนี้ในหนังสือพิมพ์ไทย ในช่วง พ.ศ.2451
จากข่าวที่ลงเรื่องบ้านหิมพานต์นี้ทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับตัวบ้านคือ ที่ดินในป๊ากหรือบ้านหิมพานต์มีขนาด 16,000 ตารางวา มีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีประตูทางเข้าทางถนนสามเสน 2 ประตู มีประตูทางแม่น้ำเจ้าพระยา 1 ประตู เรียกว่า ประตูนาค ภายในกำแพงมีคลองกว้าง 4 วา ลึก 6 ศอก ล้อมรอบ กลางป๊ากมีตึก 2 หลังทำอย่างประณีตงดงาม ภายในมีกำแพงอีกชั้นหนึ่ง
ภายนอกหรือตอนหน้าตึก มีโรงละครใหญ่ 1 โรง กระโจมแตร 1 กระโจม มีกรงเลี้ยงสัตว์ต่างๆ มีสระน้ำและสนามหญ้า มีเขาก่อด้วยหินขนาดใหญ่ มีถ้ำสำหรับเข้าไปเที่ยวภายในได้ เข้าถ้ำมีน้ำกระโจนออกซ่าๆเมื่อต้องการดู และมีสระหน้าเขาประดับประดาด้วยเครื่องทะเล ภายในถ้ำมีทางขึ้นยอดเขาได้ และมีพระพุทธรูปสำหรับบูชาหรือนมัสการในถ้ำ มีเขาก่อด้วยหินเป็นเนินเขา มีกระโจมตั้งกระถางต้นไม้ลายคราม และมีต้นไม้ดอกไม้ ต้นไม้ใบปลูกตามริมคลองและข้างถนนต่างๆ กับมีสระน้ำพุหน้าตึกใหญ่
ภายในหลังบ้านมีเขาดิน ถนนบนเขาทำด้วยปูนซีเมนต์ ภายในมีอุโมงค์กว้างขวางและมีทางออกจากอุโมงค์ลงสระน้ำขนาดใหญ่ได้ บนเขามีที่พักทำด้วยศิลาและปลูกแต่ไม้หอม มีกระโจมบนยอดเขา และมีที่พักหลายแห่ง เป็นกระโจมบ้าง เป็นเรือนบ้าง มีเครื่องดื่มต่างๆ มีโรงกาแฟ และหมากพลูบุหรี่พร้อม มีเก้าอี้สำหรับนั่งตามสนาม มีเรือสำหรับพายในคลองและในสระ
ในวันเปิดป๊ากสามเสน พระสรรพการหิรัญกิจได้อัญเชิญสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น เสด็จมาเปิดประตูบ้านหิมพานต์และป๊าก สามเสนเป็นฤกษ์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ร.ศ.127 ป๊ากสามเสน ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 800,000 บาท เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ร.ศ.127 เวลาทำการคือระหว่าง 7.00 น. – 24.00 น. ค่าผ่านประตูคนละ 1 บาท รายปีมีแบบเหรียญทองปีละ 200 บาท และเหรียญเงินปีละ 100 บาท มีผู้ติดตามได้ครั้งละ 2 คน ส่วนโรงละครนั้น สร้างแบบยุโรป มีการเก็บค่าเข้าชมตามลำดับชั้น ตั้งแต่ 1 บาท ถึง 60 บาท มีการแสดงมหรสพ ได้แก่ งิ้ว หนังฉาย เพลงฉ่อย ลิเกทรงเครื่อง เครื่องสาย ละครพูด และนำหนังจากยุโรปเข้ามาฉาย ป๊ากสามเสนดำเนินกิจการได้ถึงเมื่อไรยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด จากข่าวโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยมีเพียงช่วง ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) หลังจากนั้นยังไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับป๊ากสามเสนเพิ่มเติม
ส่วนโรงหนังหรือโรงละครนั้น สร้างแบบยุโรป และมีการจัดที่นั่งตามแบบตะวันตก คือ บ๊อกพิเศษหรือรอแยลบ๊อก บ๊อกธรรมดา บ๊อกไปรเวต สตอลนั่งหน้าฉาก และที่นั่งชั้นที่ 3 ราคาตั๋วต่างกันไปตั้งแต่ 1 บาทถึง 60 บาท มีการแสดงมหรสพ ได้แก่ งิ้ว หนังฉาย เพลงฉ่อย ลิเกทรงเครื่อง เครื่องสาย ละครพูด และยังมีการนำหนังจากยุโรปเข้ามาฉายอีกด้วย
235770807_677930970269883_2990797747864259635_n 237921074_677909673605346_7533004989494539601_n 238558368_677931150269865_1359025970232260603_n 238612236_677931246936522_497646188728490103_n

ที่มาของคำว่า “สามเสน”
พื้นที่โครงการอนุรักษ์ตึกพระสรรพการหิรัญกิจ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่วชิรพยาบาล เลขที่ 681 ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร หรือในบริเวณที่เรียกว่าย่านสามเสน ย่านสามเสนนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้านเมืองมีการขยายตัวทางทางตอนเหนือของพระบรมมหาราชวังมายังย่านสามเสนแล้ว และต่อจากนี้มีการขยายตัวเพิ่มเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างพระราชวังดุสิตขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับ ทำให้ย่านสามเสนเกิดการขยายตัวของชุมชน จากเดิมที่เป็นพื้นที่ชานพระนครด้านเหนือ เป็นที่อยู่ของชาวเขมร และญวนที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้เริ่มมีวัง บ้านขุนนางและราษฎรเข้ามาตั้งบ้านเรือน
ความเป็นมาของย่านสามเสน
แหล่งโบราณคดีตึกพระสรรพการหิรัญกิจตั้งอยู่ในย่านเก่าแก่ที่เรียกว่าย่านสามเสน ตำนานเกี่ยวกับชื่อสามเสน มีเรื่องราวที่ได้รับการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า กาลครั้งหนึ่งมีพระเจ้าไตรตรึงษ์ ครองเมืองอโยธยา มีพระราชธิดาที่พระสิริโฉมงดงามมาก ความงามของพระองค์ทำให้เจ้าชายไชยสงคราม เจ้าผู้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือแปลงกายเข้ามาทางท่อน้ำและลักลอบได้เสียกับพระราชธิดา เมื่อพระเจ้าไตรตรึงษ์ทราบเรื่อง จึงทำลอบดักไว้ส่งผลให้เจ้าชายสิ้นพระชนม์ เมื่อเพื่อนเจ้าชายทราบข่าว จึงได้แปลงกลายเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ล่องมาที่เมืองอโยธยา แต่ไม่สามารถฉุดไว้ได้จึงลอยมาถึงเมืองบางกอก ชาวบ้านได้ตื่นตกใจระดมคนถึง 300,000 คน และช่วยกันฉุดพระพุทธรูปขึ้นมาจากน้ำ แต่ปรากฏรูปเพียงชั่วคราวก็หายไป จึงนิยมเรียกสถานที่บริเวณนี้ว่า “สามแสน” และกร่อนเหลือเพียง “สามเสน” ในภายหลัง
เกี่ยวกับตำนานที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังปรากฏเรื่องเล่านี้ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นบทกวีที่ได้เขียนขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2350 เมื่อครั้งที่ได้เดินทางทางเรือไปยังพระพุทธบาท แสดงให้เห็นว่าที่มาของตำนานนี้มีมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ปรากฏมีเนื้อความตอนที่กล่าวถึงสามเสนเนื้อความว่า
“ถึงสามเสนแจ้งความตามสำเหนียก เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี
ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี ไม่เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน
จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น
นี่หรือรักจะมิน่าเป็นราคิน แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ”200193830_667108728018774_8513042113152566237_n 227478137_667103648019282_1164118338563944123_n 228449814_667103528019294_7883813288406363039_n

การก่อสร้างตึกเหลือง
สมัยแรกสร้างบ้านหิมพานต์ (ตึกเหลือง) และป๊ากสามเสน (พ.ศ.2449 – 2455)
บริเวณพื้นที่โครงการฯ มีการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในราว พ.ศ.2448 ว่าเป็นที่ตั้งของบ้านพระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2448 ปรากฏภาพแผนผังบ้านในแผนที่ พ.ศ.2450 (ร.ศ.126) มีรูปลักษณะพื้นที่แปลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อันมีอาณาเขต ดังนี้
ทิศตะวันออก จรด ถนนสามเสน
ทิศใต้ จรด ถนนสังคโลก
ด้านทิศใต้ของถนนสังคโลกมีคลองที่เชื่อมออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาชื่อ คลองอั้งโล่
ทิศตะวันตก ติดกับ พื้นที่เจ้าของรายอื่น ถัดออกไปเป็นถนนขาว
ด้านทิศเหนือ ติดกับ ตึกแถว ถัดไปเป็นถนนสุโขทัย
พื้นที่โดยรอบบ้านพระสรรพการหิรัญกิจ เป็นพื้นที่ย่านสามเสนซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระนครซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญในเวลานั้น แต่ด้วยการขยายตัวของเขตเมืองในช่วงรัชกาลที่ 3-5 โดยเฉพาะการสร้างพระราชวังดุสิตในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เหล่าข้าราชบริพารส่วนหนึ่งตามออกมาตั้งบ้านเรือนในด้านทิศเหนือใกล้พระราชวังดุสิต บ้านพระสรรพการหิรัญกิจอาจเป็นหนึ่งในนั้น หรืออาจมีพื้นเพเป็นคนย่านนี้อยู่แต่เดิมยังไม่พบหลักฐานในช่วงนี้ ใกล้กับพื้นที่โครงการฯ เป็นชุมชนชาวสยาม ชาวเขมร ชาวญวน และชาวจีนที่ตั้งรกรากมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนพื้นที่บ้านพระสรรพการหิรัญกิจยังไม่พบหลักฐานว่าแต่เดิมใครเป็นเจ้าของที่ดิน มาพบหลักฐานเมื่อมีการก่อสร้างบ้านแล้ว
ทั้งนี้ พื้นที่ติดกับบ้านพระสรรพการจะเป็นพื้นที่ที่เป็นวัง โดยมีวังที่เก่าที่สุดคือ วังของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งพระสรรพการเองเคยรับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ขึ้นต่อกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ก่อนลาออกมาเป็นผู้จัดการฝ่ายไทยของแบงค์สยามกัมมาจล นอกจากนี้ ยังมีวังของกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนบ้านพระสรรพการอยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน ตัวขอบเขตของบ้านจะไม่ติดกับแม่น้ำ แต่มีคลองเล็กๆ ชื่อคลองอั้งโล่เชื่อมต่อตัวบ้านกับแม่น้ำเจ้าพระยา
บ้านพระสรรพการหิรัญกิจหรือบ้านหิมพานต์ ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้าง เช่น แบบแปลน หรือรายการสิ่งของสำหรับการก่อสร้างและตกแต่ง เนื่องจากเป็นของเอกชน จึงไม่มีบันทึกทางการกล่าวถึงดังเช่นวังของเจ้านาย การบันทึกคงเป็นเพียงเจ้าของบ้านจัดทำแต่ไม่สามารถค้นหาข้อมูลเหล่านี้ได้
พบหลักฐานเป็นแผนผังที่ปรากฏในแผนที่กรุงเทพฯ ซึ่งแผนที่ฉบับแรกที่ปรากฏบ้านพระสรรพการคือ แผนที่บริเวณกรุงเทพ ร.ศ.126 (พ.ศ.2450) สามารถศึกษาจากแผนที่พบว่ามีแผนผังที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตามยาวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก มีการขุดคูบ้านรอบเขตพื้นที่บริเวณภายใน โดยผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองอั้งโล่ มีรั้วรอบเป็นรั้วก่ออิฐถือปูน ด้านหน้าของบ้านหันออกสู่ถนนสามเสน มีทางเข้าหลักสองทาง เพื่อเข้าสู่ตัวอาคารหลักทั้งสองหลังของบ้าน พื้นที่ส่วนหน้าบ้านเป็นส่วนของตัวอาคารหลักสองหลัง และสนามหน้าบ้าน กินพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ ส่วนด้านหลังเป็นพื้นที่ของเขาดิน กินพื้นที่ 2 ใน 3 ของพื้นที่ ด้านหน้าของบ้านซึ่งติดกับถนนสามเสนมีรถรางผ่าน นับเป็นที่ดินที่ใกล้เมืองและสามารถเดินทางได้สะดวกสบายทั้งทางเรือ ทางรถ และทางรถราง พื้นที่ด้านทิศตะวันออกถัดจากถนนสามเสนไปยังมีสภาพเป็นเรือกสวน
หลักฐานอีกอย่างหนึ่งของบ้านพระสรรพการหิรัญกิจคือ ภาพถ่ายบ้านขณะกำลังก่อสร้าง ซึ่งพบจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แสดงให้เห็นภาพตึกใหญ่หรือตึกพระสรรพการขณะกำลังก่อสร้าง ยังไม่มีการสร้างหลังคา ถ่ายจากด้านหน้าบ้าน โดยบริเวณหน้าบ้านก็มีการปลูกต้นไม้ไว้บางส่วน บ้านพระสรรพการได้มีหลักฐานปรากฏอีกครั้งในหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam ได้กล่าวถึงขุนนางสยามผู้หนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากคือ พระสรรพการหิรัญกิจ เป็นบุตรคนที่สามของพระยาพรหมพิบาล ซึ่งเป็นขุนนางเก่าแก่ที่มีอำนาจมาก มีภรรยาชื่อคุณทรัพย์ พระสรรพการมีบ้านที่ใหญ่โตสวยงามที่สุดในพระนคร เป็นรองเพียงพระบรมบรมมหาราชวัง
นอกจากข้อความข้างต้น ในหนังสือยังปรากฏรูปบ้านของพระสรรพการ มีอาคารหลักจำนวน 2 หลัง อาคารหลักทั้งสองหลังขอเรียกว่า ตึกพระสรรพการหิรัญกิจและตึกคุณทรัพย์ตามชื่อของเจ้าของบ้านและภรรยา ตึกทั้งสองเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ศิลปะตะวันตก ผังอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันด้านยาวออกสู่ด้านหน้า ตึกคุณทรัพย์ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของตึกพระสรรพการฯ รูปแบบสถาปัตยกรรมของตึกพระสรรพการฯ เป็นแบบ Neo classic ที่มีการผสมผสานองค์ประกอบตกแต่งจากสถาปัตยกรรมแบบ Gothic และศิลปะแบบ Art Nouveau ซึ่งงานออกแบบในลักษณะนี้เป็นความถนัดพิเศษของกลุ่มช่างอิตาเลียนที่เข้ามาทำงานในสยามเวลานั้น
ส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรมของตึกคุณทรัพย์ ถึงแม้ตัวอาคารจะมีขนาดเล็กกว่าตึกพระสรรพการฯ แต่ก็มีความหรูหราและอ่อนช้อยงดงามสมกับเป็นที่พักของสตรีผู้สูงศักดิ์ การวางผังอาคารด้านหน้าเป็นแบบสมมาตร แต่ปรับเปลี่ยนผังของมุขด้านทิศใต้ให้เป็นรูปหักมุมเหลี่ยมเพื่อสร้างความแตกต่างและลดความเป็นทางการจากฝั่งมุขทิศเหนือที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ในขณะที่ทางเข้าอาคารตรงกึ่งกลางตึกเป็นเพียงมุขระเบียงชั้นสองที่ยื่นออกมาเพื่อคลุมอัฒจันทร์ทางขึ้นตึกเท่านั้น มิได้ออกแบบให้เป็นมุขเทียบรถยนต์อย่างตึกใหญ่ของพระสรรพการฯ ทั้งนี้เพื่อให้ดูมีฐานานุศักดิ์ที่ลดลงเมื่อมองเปรียบเทียบกัน ทางด้านหลังของตึกออกแบบให้มีหอคอยสูง 3 ชั้น หลังคายอดโดมสี่เหลี่ยม (ไม่ปรากฏหลักฐานหรือรูปแบบการใช้งาน) แต่เมื่อมองจากด้านหน้าตึกที่เป็นมุมมองหลัก จะสังเกตเห็นยอดโดมเพียงเล็กน้อย อาจเพียงเพื่อให้เกิดลักษณะพิเศษทางสถาปัตยกรรมและตั้งใจมิให้เด่นกว่าตึก 3 ชั้นของพระสรรพการฯ เมื่อมองเปรียบเทียบกัน229221045_672927804103533_8476364939010347411_n 231111166_672926334103680_8058797496264361189_n 232508677_672930074103306_2969468268729694208_n

ประวัติศาสตร์โบราณคดีของพื้นที่วชิรพยาบาล
ชาววชิรพยาบาล อาจได้เคยดูแลคนไข้คนไทยที่มาที่โรงพยาบาลเรา มีนามสกุลเป็นภาษาโปรตุเกส เช่น เดอซิลวา และเกิดความสงสัยว่ามีความเป็นมาอย่างไร โพสต์นี้มีคำตอบ…
สมัยก่อนเกิดป๊ากสามเสน (บ้านพระสรรพการหิรัญกิจ (ก่อน พ.ศ.2449))
พื้นที่บริเวณวชิรพยาบาลเป็นพื้นที่เก่าแก่ พบร่องรอยการอยู่อาศัยมาตั้งแต่อย่างน้อยในสมัยอยุธยา ซึ่งได้มีการกล่าวถึงวัดคอนเซ็ปชัญว่าเป็นนิคมชาวโปรตุเกส ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกในย่านสามเสน บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระราชทานแก่ชาวโปรตุเกสที่เข้าร่วมการสงครามกับฝ่ายอยุธยา ราว พ.ศ.2217 จึงเป็นหลักฐานได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้โดยเฉพาะบริเวณริมน้ำเจ้าพระยา ได้มีชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยแล้ว
เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีชาวเขมรซึ่งลี้ภัยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานที่บริเวณย่านวัดคอนเซ็ปชัญซึ่งเป็นย่านชาวคริสต์แต่เดิมให้เป็นที่อยู่แก่ชาวเขมรเหล่านี้ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ จึงได้ตั้งบ้านเขมรขึ้น ต่อมาได้มีชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์เข้ามาเพิ่มเติม จึงได้ตั้งบ้านอยู่ใกล้เคียงกัน และสร้างวัดขึ้นคือ วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์
ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พื้นที่ย่านสามเสนเป็นพื้นที่ชานพระนครด้านเหนือ เป็นที่ตั้งของชุมชนต่างชาติ ต่างศาสนา ยังไม่มีการกล่าวถึงในบันทึกถึงความสำคัญของย่านนี้มากนัก จนกระทั่งพ.ศ.2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม พร้อมทั้งมีพระราชดำริให้มีการขยายขอบเขตพระนครออกไป ย่านสามเสนจึงกลายมาเป็นพื้นที่ริมพระนคร ซึ่งคงจะมีความคึกคักมากกว่าแต่ก่อน
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองได้มีการขยายตัวในหลายด้าน ผู้คนเริ่มมากขึ้น เมืองเริ่มมีการขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ในส่วนทิศเหนือของพระนคร ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการที่จะทรงสร้างพระราชวังดุสิตในราวพ.ศ.2441 ในการสร้างพระราชวังดุสิตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ และรถม้าพระที่นั่งทางถนนสามเสน ซึ่งเป็นถนนเก่าคดเคี้ยวอยู่ในสมัยนั้น ทรงเล็งเห็นถึงความไม่สะดวกต่อมาจึงได้ทรงโปรดให้ตัดถนนราชดำเนิน และถนนรอบพระราชวังดุสิต พร้อมตัดถนนเชื่อมจากพระราชวังดุสิตให้เชื่อมกับถนนสามเสน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของย่านสามเสนและถนนสามเสนที่เป็นย่านเก่ามาแต่เดิม
จากการศึกษาแผนที่ที่จัดทำขึ้นในพ.ศ.2446 แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของเขตเมืองในทางตอนเหนือของพระนคร มีการสร้างพระราชวังดุสิตและมีการตัดถนนสายต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนโดยรอบเขตพระราชฐาน บริเวณพื้นที่วชิรพยาบาลถูกจัดแบ่งในเขตถนนที่มีการตัดตรง แสดงให้เห็นถึงการแบ่งพื้นที่เป็นแปลงใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ในแผนที่ไม่มีการระบุว่าในเวลาที่มีการสำรวจทำแผนที่มีสิ่งก่อสร้างใด หรือใครเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณพื้นที่โครงการ แต่ได้แสดงชื่อพื้นที่ดินแปลงข้างเคียงว่า Prince Mahit ซึ่งหมายถึงพื้นที่วังกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ด้านเหนือใกล้ถนนดวงเดือนนอก(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นถนนราชวิถี) ด้านตะวันออกติดถนนสามเสน บริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ชุมชนที่มีการจัดสรรแบ่งเขตพื้นที่เป็นแบบสมมาตรจากการตัดถนนในช่วงสร้างพระราชวังดุสิต204111371_668689411194039_5028386087476573993_n 206730154_668688884527425_2544617835581690693_n 215812290_668692494527064_8014434270298635860_n 229513259_668693311193649_71962939795681934_n
บ้านพิมพานต์และป๊ากสามเสนปรากฏในหนังสือพิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม 2451 ลงข่าวถึงบ้านหิมพานต์ไว้ว่า
“ในป๊ากหรือบ้านหิมพานต์นี้ มีที่ดินประมาณ 16,000 ตารางวาหรือ 40 เส้นตารางเหลี่ยม มีกำแพงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีประตูทางเข้าทางถนนสามเสน 2 ประตู มีประตูทางแม่น้ำเจ้าพระยา 1 ประตู เรียกว่าประตูนาค ภายในกำแพงมีคลองกว้าง 4 วา ลึก 6 ศอกล้อมรอบ กลางป๊ากมีตึก 2 หลังทำอย่างประณีตงดงาม ภายในมีกำแพงกั้นอีกชั้นหนึ่ง คือ เปนชั้นนอกชั้นใน
ภายนอกหรือตอนหน้าตึก มีโรงละครใหญ่อย่างงาม 1 โรง มีกระโจมแตร 1 กระโจม มีกรงเลี้ยงสัตว์ต่างๆ มีสระน้ำแลสนามหญ้า มีเข้าก่อด้วยหินขนาดใหญ่ มีถ้ำสาหรับเข้าไปเที่ยวภายในได้ เข้าถ้ำนี้มีน้ำกระโจนออกซ่าๆ เมื่อต้องการดู และมีสระหน้าเขาประดับประดาด้วยเครื่องทเล ภายในถ้ามีทางขึ้นยอดเขาได้ แลมีพระพุทธรูปสำหรับบูชาหรือนมัสการในถ้ำ แลมีเข้ารอบตึกก่อด้วยหินปลูกต้นไม้ต่างๆ แลมีเขาหรือเนินเขาสำหรับลงน้ำได้ มีหินก่อเปนเนินเขาเปนหมู่ๆ มีกระโจมตั้งกระถางต้นไม้ลายคราม แลมีต้นไม้ดอกต้นไม้ใบปลูกตามริมคลองแลข้างถนนต่างๆ กับมีสระน้ำพุหน้าตึกใหญ่
ภายในหลังบ้านมีเขาดิน ถนนบนเขาทำด้วยปูนสิเมนต์ ภายในเขามีอุโมงค์กว้างขวางแลมีทางออกจากอุโมงค์ลงสระน้ำขนาดใหญ่ได้ บนเขามีที่พักทำด้วยศิลาแลปลูกล้วนแต่ไม้หอมทั้งสิ้น มีกระโจมบนยอดเขา แลมีที่พักหลายแห่งเปนกระโจมบ้าง เปนเรือนบ้าง มีกระโจมแตร มีสระน้ำข้างๆ ก่อด้วยศิลาเปนหย่อมๆ สาหรับนั่งดูน้ำ มีโรงเครื่องดื่มต่างๆ มีโรงกาแฟ แลหมากพลูบุหรี่พร้อม มีเก้าอี้สำหรับนั่งตามสนาม แลมีเรือสำหรับพายในคลองแลในสระด้วย มีท่าน้ำแลสนามหญ้าใหญ่แลเล็ก แลชายป่าต่างๆ หลายแห่งล้วนปลูกไม้ดอกไม้ใบทั้งสิ้น แลอีกหลายอย่างเหลือที่จะพรรณนา
สิ่งเหล่านี้ที่ทำได้แล้วยังจะทำต่อไปเพื่อความสุขสำราญของผู้ที่จะไปเที่ยวพักผ่อนร่างกายอย่างเดียว แลต่อไปจะมีเครื่องกลไก แลสิ่งต่างๆ สำหรับดูในนั้นด้วย ซึ่งกำลังทำอยู่เปนอันมาก
ป๊ากนี้จะเปิดให้ท่านทั้งหลายไปเที่ยวได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน รัตนโกสิทรศก 127 เปนต้นไป จะเปิดตั้งแต่เวลา 1 โมงเช้าจนถึงเวลา 2 ยามปิด เพราะฉะนั้น ท่านจะพาบุตรภรรยาหรือญาติมิตร์สหายไปเที่ยวดูเที่ยวชมได้ตลอดไปในป๊ากนั้น เมื่อได้เสียเงินค่าเข้าประตูคนละ 1 บาทแล้วป๊ากนี้ได้ทำโดยทุนรอนเปนอันมากแลได้ทำอย่างประณีต ซึ่งได้จ่ายเงินสิ้นไปแล้วประมาณ 800,000 บาท หรือ 10,000 ชั่งเศษ ความประสงค์ก็เพื่อจะให้ท่านทั้งหลาย ผู้ที่บ่นว่าไม่ทราบว่าจะไปเที่ยวที่ไหน ได้ไปเที่ยวที่ป๊ากนี้เท่านั้น เพื่อความสุขสำราญพักผ่อนการงานที่ได้ทำมา แลเพื่อได้พบปะสนทนากับบรรดาเพื่อนฝูง ที่จะได้ไปพร้อมกันที่ป๊ากนี้เสมอๆ ไป
เจ้าของป๊ากนี้จะมีความยินดี ถ้าผู้ที่ได้ไปเที่ยวแล้วมีความเห็นจะให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใด ซึ่งจะทำให้ผู้ไปเที่ยวได้รับความสุขสำราญแล้ว ยินดีที่จะทำเปลี่ยนแปลงแก้ไข ตามความเห็นนั้นทุกประการ แลขอแนะนำว่าถ้าท่านจะไปเที่ยวแล้ว ควรจะไปตั้งแต่บ่าย 4 โมงล่วงแล้วเปนต้นไป เพราะแดดร่มเย็นสบาย
หิมพานต์ป๊ากสามเสน
วันที่ 20 ตุลาคม รัตนโกสิทรศก 127
พระสรรพการหิรัญกิจ “
237388905_682836273112686_1539371435753018454_n 238225886_682836296446017_50174598425882623_n 238944673_682836276446019_295163219314831381_n
บ้านพระสรรพการหิรัญกิจ ตั้งอยู่ที่ริมถนนสามเสน ทิศเหนือจดถนนสุโขทัย ทิศใต้จดถนนสัง-กะโลก ทิศตะวันออกจดถนนสามเสน ทิศตะวันตกจดคลองอั้งโล่ เป็นบ้านที่พระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิสรภักดี) ผู้จัดการแบงก์สยามกัมมาจล เริ่มสร้างในราวพ.ศ. ๒๔๔๘ ด้วยงบประมาณถึงพันชั่ง (๘๐,๐๐๐ บาท) แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๑ หากไม่นับงานสถาปัตยกรรมในเขตพระราชฐาน นี่คือ ‘บ้านคุณพระ’ ที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารที่สุดในสยาม ณ เวลานั้น
บ้านพระสรรพการหิรัญกิจประกอบด้วยตึกสองหลัง คือ ตึกเหลือง และตึกชมพู
ตึกเหลืองเป็นตึกใหญ่อยู่ทางทิศเหนือ เป็นอาคารสูง ๓ ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค (Neo-Classic) ผสมผสานรูปแบบและเครื่องตกแต่งสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน
ถัดมาทางทิศใต้มีตึกชมพู เป็นอาคารสูง ๓ ชั้น มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค (Neo-Classic) เช่นกัน แต่มีความเป็นเอกภาพมากกว่า ภายในทั้งตึกใหญ่และตึกเล็กมีการประดับตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดาร มีเครื่องเรือนที่นำเข้าจากยุโรปทั้งสิ้น
พ.ศ. ๒๔๕๔ พระสรรพการหิรัญกิจดำเนินกิจการแบงก์สยามกัมมาจลผิดพลาด ถึงขั้นถูกฟ้องล้มละลาย ถอดยศ ส่วนบ้านนั้นก็ตกเป็นของแบงก์สยามกัมมาจล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงมีพระราชดำริว่า ในอดีตเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นครองราชย์มักจะทรงสร้างถาวรวัตถุ วัดวาอารามตามโบราณราชประเพณี แต่พระอารามมีจำนวนมากแล้ว ควรจะสร้างสาธารณประโยชน์อื่น ทรงเห็นว่าสถานพยาบาลจะมีประโยชน์ยิ่ง จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้พระคลังข้างที่ ซื้อที่ดินจำนวน ๒๗ ไร่ พร้อมคฤหาสน์ของพระสรรพการหิรัญกิจเดิมที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของแบงค์สยามกัมมาจล เพื่อสร้างเป็นสถานพยาบาล เมื่อดัดแปลงอาคารเดิมให้เป็นสถานพยาบาลเรียบร้อยแล้ว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเปิดโรงพยาบาล และมีพระบรมราชโองการตอนหนึ่งว่า
“…การที่เราได้จำหน่ายทุนทรัพย์ส่วนตัวออกทำโรงพยาบาลขึ้นครั้งนี้ เพราะมารำพึงถึงบุพเพกะตะปุญญตาและกุศลที่เราได้สั่งสมมา จึงได้มาตั้งอยู่ในฐานะแห่งผู้มีทรัพย์เพียงพอ แลทรัพย์ที่เรามีอยู่นี้เห็นว่าจะจับจ่ายใช้สรอยในทางใด ก็จะไม่ได้รับผลความพอใจเท่าทางที่จะทำให้เพื่อนมนุษย์ผู้มีโรคภัยเบียดเบียร ได้รับความบำรุงรักษาพยาบาลเพื่อทุเลาทุกขเวทนา ฤาได้กลับเป็นผู้มีกำลังมีร่างกายบริบูรณ์ขึ้นอีก เราเห็นว่าจะเป็นทางทานอันจะได้รับผลดีให้เราได้มีความสุขยิ่งกว่าที่จะแจกจ่ายทรัพย์ไปให้แก่คนขอทานโดยไม่เลือกหน้า บัดนี้โรงพยาบาลอันนี้ ก็ได้ตกแต่งขึ้นพร้อมแล้ว เราขอให้นามว่า วชิรพยาบาล…”
186995198_665382201524760_585480275159785421_n 198959568_665382091524771_7130357407601769865_n 201849483_665382224858091_3636587694181385685_n 224229641_665382131524767_6984163109211009214_n 224897873_665382284858085_7147533364657123938_n

 

เหรียญหิมพานต์
ความเดิมจากโพสต์ที่แล้ว
พระสรรพการหิรัญกิจ (เชยอิสรภักดี) คหบดี ผู้จัดการธนาคารสยามกัมมาจลคนแรก ได้สร้างคฤหาสน์ที่สวยงามและอลังการที่สุดนอกเขตพระราชฐานขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ตรงกับปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5
บ้านมีชื่อว่าบ้านหิมพานต์ (ตึกเหลือง วชิรพยาบาลในปัจจุบัน)
และหน้าตึกมีสวนให้ชื่อว่า
‘ป๊ากสามเสน’
เหรียญหิมพานต์ที่จำหน่ายสาหรับเป็นสมาชิกป๊ากนั้นเรียกว่า เหรียญอนุญาตชมสวน 127 อีกด้านของเหรียญยังมีการออกแบบเป็นตราประจำตัวของพระสรรพการหิรัญกิจอีกด้วยคือเป็นรูปโล่ตรงกลาง มีตัวเลขจารึกว่า ร.ศ. 99 ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่งเป็นเทวดาถือพระขรรค์ ด้านบนโล่เป็นพญานาค 3 เศียร ด้านล่างเป็นแถบผ้า มีตัวเลข 1242 ทั้งหมดนี้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงปีเกิดของท่านซึ่งก็คือปีนักษัตรปีมะโรง ร.ศ. 99 และ จ.ศ.1242 นั่นเอง
โฆษณาจำหน่ายเหรียญหิมพานต์ป๊าก จากหนังสือพิมพ์ไทย ฉบับวันศุกร์ที่ ๑๙ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๗ พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้กล่าวไว้ว่า“จำหน่ายเหรียญ หิมพานต์ป๊าก ด้วยเจ้าของหิมพานต์ป๊าก ให้สร้างเหรียญทองคำและเหรียญเงิน สำหรับหิมพานต์ป๊ากขึ้นแล้วอย่างงดงามสำหรับจำหน่ายแก่ผู้ต้องการ
๑. ผู้ที่มีเหรียญนี้มีอำนาจเที่ยวในป๊ากได้ตลอดเวลามีกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร ศก ๑๒๗ เป็นต้น ไปถึง รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐
๒. ผู้ที่ถือเหรียญนี้มีอำนาจจะพาเพื่อนฝูง หรือบุตร ภรรยาไปได้คราวหนึ่งไม่เกิน ๒ คน
๓. ผู้ที่ถือเหรียญนี้ ต้องมีหนังสือสำคัญฉบับหนึ่ง แสดงว่าได้ถือเหรียญนี้ไว้อย่างถูกต้อง และได้ส่งเงินค่าเหรียญตามอัตราแล้ว
๔. ผู้ที่จะขอรับเหรียญอนุณาตนี้ ต้องเสียเงินค่าบำรุง แก่หิมพานต์ป๊ากจะเป็นจำนวนเงินคราวเดียวตลอดเวลา ๑ ปี เหรียญทองคำ ๒๐๐ บาท เหรียญเงิน ๑๐๐ บาท เพราะฉนั้นถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดมีความประสงค์จะใคร่รับเหรียญชนิดใด เพื่อเป็นการบำรุงอุดหนุนหิมพานต์ป๊าก ซึ่งเป็นที่สำหรับเที่ยวและพบปะสนทนากันกับเพื่อนฝูง และเพื่อพักผ่อนการงานสำหรับความรื่นเริง ซึ่งพึ่งเกิดมีชื่อเสียงต่อชาติแล้ว โปรดนำเงินไปรับที่ประสารทรัพย์บริษัทบาง ขุนพรม ตั้งแต่เช้า ๓ โมง ถึงบ่าย ๓ โมง ทุกวันเสาร์เพียงเที่ยง เว้นแต่วันอาทิตย์ปิด”
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗
หลวงประสาร อักษร พรรณ
ผู้อำนวยการ
ข้อมูลจำเพาะ
ลักษณะ เป็นรูปไข่ ขอบเรียบ
ด้านหน้า กลางเหรียญเป็นรูปโลห์มีตัวเลขจารึก “ ร.ศ.๙๙ ” ทั้งสองข้างมีเทวดาถือพระขรรค์ เหนือโลห์มีพญานาค 3 เศียร ด้านล่าง ชิดวงขอบมีแถบจารึก ปีจุลศักราช “ ๑๒๔๒ ”
ด้านหลัง มีข้อความว่า “ อนุญาตชมสวน๑๒๗ ” อยู่ภายในวงพวงมาลา240451333_687660305963616_1544980616653642357_n 240472513_687661475963499_2809769679620285507_n 240649837_687660275963619_4490887789066155722_n

194063784_636797144383266_159037791371013315_n
185858691_617225523007095_2143475726710522254_n
รวบรวมบทความ โดย
สำนักงานรับบริจาควชิรพยาบาล

Posted by & filed under ข่าวประชาสัมพันธ์.