วันนี้ในอดีต : 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2453 ( วันปิยมหาราช )
วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (“จุฬาลงกรณ์” นั้นแปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึง “พระเกี้ยว” ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา จะเห็นว่าพระนามของพระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระราชบิดา เพราะพระราชบิดาทรงมีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ อันหมายถึงเครื่องประดับศีรษะเช่นกัน)
ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2411 ขณะทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 16 พรรษา ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆ อีกทั้งทรงปฏิรูปการปกครองให้ทันสมัย นับว่าประเทศมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากในช่วงสมัยของพระองค์ บรรดาไพร่และทาสต่างก็ได้รับการถูกยกเลิกระบบไพร์ ระบบทาสในรัชสมัยนี้ การไฟฟ้า การประปา และการรถไฟ อีกทั้งสาธารณูปโภคต่างๆที่มีผลต่อความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตซึ่งเป็นของสมัยใหม่ก็มีขึ้นในรัชสมัยของพระองค์เช่นกัน นับว่าประเทศสยามได้เข้าสู่ความเป็นอารยประเทศประเทศหนึ่งในซีกโลกตะวันออก
….เหตุการณ์ก่อนการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับเป็นวันแรกที่พระเจ้าอยู่หัวมีพระอาการประชวร ภายหลังจากที่ทรงขับรถไฟฟ้าออกไปประพาสฟาร์มเลี้ยงไก่ ที่ทุ่งพญาไทแต่มิได้เสด็จลง จากรถพระที่นั่ง รับสั่งว่า “ท้องไม่ค่อยสบายจะรีบกลับ”
17-19 ตุลาคม 2453 มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปีถวายรัชกาลที่ ๔ ในพระบรมมหาราชวัง แต่เนื่องจากพระนาภี (ท้อง) ยังไม่ปกติ จึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เสด็จแทนพระองค์
19 ตุลาคม 2453 ประทับพักฟื้นบนพระแท่นบรรทมแต่โปรดให้เจ้านายฝ่ายนอกเข้า เฝ้า เช่น กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ และกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ฯลฯ เข้าเฝ้าบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ชั้น 3 ในห้องพระบรรทม ยังสามารถตรัสข้อราชการและตรัสเล่นกับผู้ที่ไปเฝ้าเหมือนมีพระอาการปกติ วันนี้ตรัสสั่งให้พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี ตั้งสำรับขนมจีนน้ำยาเป็นเครื่อเสวยตอนกลางวัน ส่วนตอนมื้อเย็นนั้นให้ทรงจัดเป็นกระทงสังฆทานประกอบด้วยเครื่องคาว 7 อย่าง มีฉู่ฉี่ปลาสลิดสด แกงเผ็ด หมูหวาน ผัด น้ำพริก ผักและปลาดุกย่างทอดเครื่องหวานเสวยพระกระยาหารได้ แต่เริ่มพระนาภีไม่สู้ดีจึงเสวยพระโอสถปัด (ยาถ่าย) วันนี้นับเป็นการเสวยแบบปกติครั้งสุดท้ายในพระชนม์ชีพ
20 ตุลาคม 2453 พระอาการกำเริบมากขึ้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ มีรับสั่งให้ตาม หมอฝรั่ง 3 คน มีนายแพทย์เบอร์เมอร์ นายแพทย์ไรเตอร์ และนายแพทย์ปัวซ์ เข้ามารักษาโดยให้หมอฝรั่งดูอาการอยู่ประจำ
21 ตุลาคม 2453 เวลาย่ำรุ่งบรรทมตื่น ตรัสว่าพระศอแห้ง แล้วเสวยพระสุธารสเย็น รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถถวายน้ำเงาะคั้น 1 ลูก พอเสวยได้ครู่เดียว ก็ทรงพระอาเจียนออกมาหมด ในวันนี้ทรงพระราชดำรัสเพียง 2 ประโยคว่า “การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไร ก็ให้รักษาเถิด” และ “การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว” ตอนค่ำวันนี้มีพระบังคนเบา (ปัสสาวะ) ประมาณ 1 ช้อนชา และเป็นครั้งสุดท้าย
22 ตุลาคม 2453 พิษของพระบังคนเบาซึมไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ ทำให้มีพระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ วันนี้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ แพทย์แผนไทย มาเข้าเฝ้าเพื่อตรวจพระอาการ ทรงพระราชดำรัสเป็นครั้งสุดท้ายว่า “..หมอมาหรือ..” แล้วก็มิได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป เย็นวันนี้พระหทัยเต้นอ่อนลง ลืมพระเนตรได้ แต่หายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆจนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ ไกล สมเด็จพระบรมราชินีนาถกราบทูลเสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์ได้ แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตรคล้าย ทรงพระกันแสง แบบน้อยพระทัยพระองค์เองว่าทำไมหมดเรี่ยวแรง หลัง 2 ยามเพียง 45 นาที ของคืนนั้นก็เสด็จสวรรคตในลักษณะที่ยังบรรทมหลับอยู่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรค พระวักกะ (ไต) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 2.45 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต รวมพระชนมพรรษาได้ 57 พรรษา ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช และเป็นวันหยุดราชการ
อ้างอิง : หนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 31 ฉบับที่ 11 กันยายน 2553
ที่มา : www.facebook.com/History.KingdomOfSiam
งานประชาสัมพันธ์
โทร 02 244 3860
Email:askans.rector@gmail.com
Posted by admin & filed under ข่าวประชาสัมพันธ์.