แคลเซี่ยมสะสมได้ ลดเสี่ยง ‘โรคกระดูกพรุน’ เมื่อ ‘สูงวัย’

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 58 สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม Metro TV สัมภาษณ์ พญ.ยุพดี ฟู่สกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในประเด็น ‘โรคกระดูกพรุน’ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งการป้องกันและดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่ใช้ยา

พญ.ยุพดี กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนคือการที่มวลกระดูกหรือโครงสร้างของกระดูกลงลงโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่การสร้างเนื้อกระดูกทำได้ช้าหรือน้อยทำให้ไม่สามารถรับแรงกระแทกได้ เสี่ยงต่อการที่กระดูกหักหรือทรุดได้ง่ายที่บริเวณต่างๆ เช่น ข้อมือ กระดูกสันหลัง หรือสะโพก โดยผู้สูงอายุบางรายไม่สามารถผ่าตัดได้ทำให้ทุพลภาพ อาจเกิดภาวะติดเตียงและมีโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ปอดอักเสบหรืออื่นๆที่อาจถึงเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่ผู้สูงอายุถึง 1 ใน 4 ไม่รู้ตัวว่าเป็น

ทั้งนี้ พญ.ยุพดี กล่าวว่า ควรตระหนักถึงความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนตั้งแต่ช่วงยังเด็กหรือวัยรุ่น โดยเฉพาะปัจจุบันที่วัฒนธรรมการบริโภคเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองที่นิยมอาหารฟาสฟู้ด ทำให้ขาดการทานอาหารที่เสริมแคลเซี่ยมสูงตามธรรมชาติ เช่น อาหารพื้นบ้านอย่างปลาเล็กปลาน้อยทอด คะน้า ชะพลู ถั่ว เต้าหู้ ผักใบเขียวต่างๆ อาหารเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงยังได้จากการดื่มนมหรือโยเกิร์ต หากทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูงก็เหมือนสะสมแคลเซี่ยมคล้ายสะสมเงินในธนาคาร หากมีมากเมื่ออายุมากแม้กระดูกจะมีการสร้างลดลงก็มีต้นทุนสูงกว่า

นอกจากนี้ พญ.ยุพดี ยังกล่าวว่า วิตามินดีที่ได้จากแสงแดดจะช่วยให้การดูดซึมแคลเซี่ยมทำได้ดี แต่มีผลวิจัยพบว่าคนไทยจำนวนมากขาดวิตามินดี อาจเพราะกลัวผิวดำจึงเลี่ยงแดดหรือทาครีมกันแดด เวลาออกกำลังกายก็นิยมไปตามฟิตเนส ดังนั้น แม้ว่าบางคนจะทานอาหารเสริมแคลเซี่ยมมากแต่ก็เกิดการขาดแคลเซี่ยมได้เนื่องจากขาดวิตามินดีทำให้การดูดซึมทำได้ไม่ดี จึงอยากให้ไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะซึ่งปัจจุบันใน กทม.มีหลายแห่ง ส่วนอาหารบางชนิดก็มีผลต่อการดูดซึมแคลเซี่ยม เช่น กาแฟ ไม่ควรดื่มเกิน 3 แก้วต่อวัน นอกจากนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอร์หรือการสูบบุหรี่ก็มีผลเช่นกัน

งานประชาสัมพันธ์
โทร 02 244 3860
Email:askans.rector@gmail.com

Posted by & filed under ข่าวประชาสัมพันธ์.