Kim Nurse

 

เรื่อง/ภาพ : ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

สายลมโชยพัดเฉื่อยฉิว ทิวไม้ใหญ่เรียงรายสลับกับบ้านเรือนปลูกยาวไปตามชายคลอง ตะวันขยับสูงขึ้นไปใกล้เที่ยงแล้ว แต่ที่ ‘ชุมชนบ้านพักรถไฟบางซื่อ’ แห่งนี้กลับดูสงบสุขุมตัดกับภาพทั่วไปของกรุงเทพที่ดูเร่งร้อนแบบเมืองใหญ่  ยิ่งในยามนี้หนุ่มสาวแทบทุกครัวต่างมีภาระต้องออกไปทำงาน  บ้านพักหลายหลังจึงมีเพียงผู้สูงวัยกับเด็กน้อยวัยก่อนเรียนวิ่งเล่นสนุกกันรอบบ้าน  ที่นี้เอง ‘ธัญวิทย์ นิลพุฒ’  หรือคิม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 กับเพื่อนๆจากคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์  มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กำลังฝึกปฏิบัติงานในรายวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุกันอยู่ และบทสนทนาของเรากับเขาก็เริ่มต้นขึ้น

 

“การเปลี่ยนมุมมองทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ต้องมองว่าผู้สูงอายุเป็นผู้มีความรู้ ดูแลตัวเองได้ มีประสบการณ์ อยากให้บ้านใดที่มีผู้สูงอายุเสริมคุณค่าผู้สูงอายุเป็นปูชนียบุคคล เป็นที่พึ่งของลูกหลาน ซึ่งประสบการณ์ของท่านจะช่วยเราได้ไม่มากก็น้อย”

 

ปกติเรามักเห็นพยาบาลประจำตามโรงพยาบาลมากกว่า มาที่นี่ได้เห็นพยาบาลลงไปทำงานในชุมชนด้วย ทำไมงานแบบนี้จึงสำคัญ

ความคิดเรื่องการลงชุมชนของพยาบาลมีมานานแล้วครับ เพราะมองว่าการสร้างนำซ่อมย่อมดีกว่า การที่เราป้องกันการเกิดโรคดีกว่าการรักษาโรคอยู่แล้ว  ซึ่งการมาในชุมชนนั้นไม่ใช่แค่การเยี่ยมหรือตามเคสต่อจากการรักษาในโรงพยาบาล พอเสร็จแล้วกลับ  แต่การลงชุมชนเป็นบทบาทในการป้องกัน ส่งเสริม หรือรักษาฟื้นฟูเบื้องต้น ประโยชน์คือเราได้ดูบริบทของสังคมของครอบครัวเขาว่า ทำไมคนไข้บางคนจึงต้องกลับไปโรงพยาบาลซ้ำๆ ด้วยโรคเดิมๆ ซึ่งบางทีอาจเป็นเงื่อนไขด้านพฤติกรรมสุขภาพของคนไข้ที่อยู่ในสิ่งแวลดล้อมแบบนี้ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้จึงต้องกลับไปโรงพยาบาล เรามาดูว่าเขาอยู่อย่างไร ขณะเดียวกันเราก็ค้นหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคด้วย เมื่อได้ความเสี่ยงก็จัดการความเสี่ยงเหล่านั้น เช่น ถ้ามีคนไข้เป็นเบาหวาน แน่นอนว่ามีพฤติกรรมชอบกินหวานแน่ แต่ก็อาจมีพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงจะเป็นเบาหวาน พยาบาลก็จะให้สุขศึกษา คือดูแล ให้ความรู้ มีแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดโรค

บางคนเขาอาจมองว่าตัวเองไม่ป่วย อย่างการเป็นเบาหวานที่วินิจฉัยว่าเป็นคือมีน้ำตาลในเลือดเกิน 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ในชีวิตประจำวันเขายังใช้ตามปกติ กว่าจะคิดว่าป่วยคือเกิดภาวะแทรกซ้อนไปแล้ว อีกปัญหาที่มีมากคือการทานยาแล้วหยุดยาเอง ถ้าเราไม่เข้าไปจัดการตรงนี้ คนไข้ก็ทะลักเข้าไปในโรงพยาบาลกลายเป็นคำถามตามมาว่า ปีหนึ่งผลิตหมอพยาบาลไม่พอ ตึกที่สร้างกว่า 20 ชั้นทำไมไม่มีเตียงให้คนไข้นอน นั่นเพราะเราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ถ้าเรามาจัดการที่ต้นเหตุรวมไปถึงการป้องกันภาวะที่แทรกซ้อนกับคนที่มีโรคอยู่แล้ว เพราะบางคนอาจจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่บ้านซึ่งเราไม่อยากให้มี ค่าใช้จ่ายของเขาก็จะเพิ่มขึ้นตาม นี่คือวัตถุประสงค์หลักๆที่เรามาลงชุมชนเพื่อคัดกรองและตามเคสฟื้นฟูที่ออกจากโรงพยาบาลของเรา

ต้องเตรียมพร้อมการทำงานในชุมชนอย่างไร

หลักๆของการลงชุมชน สิ่งที่ยากคือการเข้าไปหาเคสผู้ป่วยครับ  เพราะการที่เขาจะให้ข้อมูล เราต้องพูดคุยทำความเข้าใจเขาด้วย อย่างกรณีผู้สูงอายุ ตอนนี้สังคมไทยและสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กหรือวัยทำงาน 1 คน อย่างน้อยมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล 2 คน คือพ่อกับแม่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะการคุมกำเนิดดีขึ้น จำนวนของลูกมีน้อยลง สิ่งที่เราทำคือทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง มีความพยายามที่จะดูแลตัวเอง และเข้าสังคมได้

บางคนอาจมองว่าผู้สูงอายุมีแต่เรื่องไม่ดี ขี้บ่น จุกจิก หลงๆลืมๆ คือถ้าทัศนคติไม่ดีแล้วจะยากที่จะเข้าไปดูแลตรงนี้ ดังนั้น เราต้องเข้าไปปรับเปลี่ยนให้มองว่าผู้สูงอายุคือผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน ให้คำปรึกษาได้ รวมทั้งเรื่องสุขภาพเราเน้นสร้างมากกว่าซ่อม ลูกเล็กเด็กแดงที่เห็นวิ่งๆกันอยู่นี้ก็ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ  ส่วนเคสฟื้นฟูเราจะพยายามทำให้เกิดการลดการป่วยซ้ำและต้องกลับไปนอนโรงพยาบาลซึ่งก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้เขาได้มากด้วย

อยากให้แนะนำเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านอีกสักหน่อย

การเปลี่ยนมุมมองทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ต้องมองว่าผู้สูงอายุเป็นผู้มีความรู้ ดูแลตัวเองได้ มีประสบการณ์ อยากให้บ้านใดที่มีผู้สูงอายุเสริมคุณค่าผู้สูงอายุเป็นปูชนียบุคคล เป็นที่พึ่งของลูกหลาน ซึ่งประสบการณ์ของท่านจะช่วยเราได้ไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกันผู้สูงอายุส่วนมากก็คือพ่อแม่เรา ความจริงแล้วเวลาในชีวิตคนเรานั้นสั้น มันคือโอกาสที่จะได้ดูแลตอบแทนท่าน เรื่องความความกตัญญูก็เป็นเรื่องที่คนไทยเราค่อนข้างถือกัน

ในด้านร่างกาย อยากให้ลูกหลานคอยสังเกตพฤติกรรม เพราะอาการทางกายภาพหรือบางโรคสำหรับผู้สูงอายุจะสื่อไม่ชัด เช่น ถ้าติดเชื้อในวัยทั่วไปมักมีไข้ แต่สำหรับผู้สูงอายุอาจไม่มีไข้ให้เห็นก็ได้ แต่พฤติกรรมอาจเปลี่ยนไปเช่น กินข้าวน้อยลง ซึมลง ไม่ค่อยพูด อ่อนเพลีย นอนมากขึ้น ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้

ขอถามเรื่องความต่อเนื่องบ้าง มีแค่ไหนเพราะนักศึกษาเองก็มีภาระเรื่องการเรียน คงอยู่ในชุมชนใดชุมชนหนึ่งนานๆไม่ได้

จริงอยู่ว่าเรื่องนี้เป็นข้อจำกัดที่กำหนดด้วยหน่วยกิจการศึกษา อย่างที่ชุมชนบ้านพักรถไฟเราอยู่ประมาณ 3 สัปดาห์ แต่สิ่งที่เราทำได้เพื่อความต่อเนื่องก็คือการเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมที่สุด เมื่อเจอปัญหา เราจะส่งต่อให้ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ดูแลชุมชนนี้ ดังนั้นจึงหมายถึงว่าเราเก็บข้อมูลได้ เช็คปัญหาได้ การส่งต่อข้อมูลหรือในกรณีที่ต้องการติดตามเยี่ยมต่อจะได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องตามสิทธิการรักษาของเขา นี่คือความต่อเนื่องที่เราทำได้

เป็นการแสริมเข้าไปในงานระบบสุขภาพที่มีอยู่

ใช่ครับ ปกติแล้วจะติดต่อประสานงานกันผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ซึ่งทางศูนย์ฯจะมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ถ้าที่ไหนยังไม่มีหรืออยากให้ทางเกื้อการุณย์เก็บข้อมูลให้ก็จะประสานเข้ามาที่อาจารย์เพื่อประเมินว่านักศึกษาควรลงพื้นที่ไหน ชุมชนไหน เพราะดัวยอัตรากำลังเราเองก็ลงไปทุกแห่งไม่ได้ อีกเรื่องหนึ่งก็คือจะดูตามความต้องการของชุมชน

แล้วที่ชุมชนบ้านพักรถไฟ พบปัญหาอะไรบ้าง

ยังคงพบโรคเรื้อรังซึ่งคงสืบเนื่องมาจากการทำงานในสังคมเมือง ความเป็นอยู่ที่เร่งรีบ หรือปัจจัยต่างๆทำให้การดูแลตัวเองไม่ดีเท่าที่ควรกลายเป็นโรคเรื้อรังพุ่งสูง ทั้งเบาหวานหรือความดันและลามไปสู่ปัญหาอื่นๆของผู้สูงอายุ ยิ่งไม่ได้ทำงานเพราะเกษียณออกมาแล้วและไม่ได้ออกกำลังกายจะยิ่งเป็นความเสี่ยง

เรื่องที่น่าเป็นห่วงคืออาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุ อย่างที่บอกว่าถ้าเจตนคติต่อผู้สูงอายุไม่ดีทำให้ผู้สูงอายุสามารถถูกละเลยในการดูแล อันนี้พูดรวมๆจากการลงพื้นที่หลายๆชุมชนนะครับ ปัญหาที่เราเจอนั้นมีทั้งที่เป็นความเสื่อมทางร่างกายไม่ว่าเรื่องหลงๆลืมๆ ความจำเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม อีกเรื่องคือเรื่องสังคม เพราะจากที่มีความเสื่อมทางร่างกาย ผู้สูงอายุจากที่เคยเข้าสังคมได้ เดินไปมาได้ จากที่เคยทำงานได้ พอทำไม่ได้ทำให้เขารู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง พูดคุยน้อยลง เข้าสังคมน้อยลง ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ผู้สูงอายุบางคนกล่าวว่าอยู่ไปวันๆจะไปพรึ่งนี้ มะรืนนี้ก็ได้ ความพอใจในชีวิตค่อนข้างต่ำ

แต่อย่างที่บอกว่าเรามีข้อจำกัดเรื่องเวลา แม้จะอยากให้ยั่งยืนที่สุด ต่อเนื่องที่สุด ดังนั้นเมื่อเก็บข้อมูลไปแล้ว จึงนำไปคุยกันสังเคราะห์กันว่าควรมีกิจกรรมใดบ้างที่จะส่งเสริมความยั่งยืนให้เขาตระหนัก เพราะถ้าเขาตระหนักว่าเป็นปัญหาของเขา เขาจะตื่นตัว คือไม่ใช่ว่าเรามองว่าเป็นปัญหาแต่เขามองว่าไม่เป็นก็แก้ไม่ได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่ลงชุมชนเราจะทำกิจกรรมเพื่อให้ชุมชนหรือประชาชนมีส่วนร่วม ข้อมูลที่มาแล้วจะนำไปคุยกับอาสาสมัครสาธารณสุขและตัวแทนประชาคมในชุมชนให้เข้าเห็นปัญหาจากข้อมูลนี้  เมื่อเขาเห็นปัญหาร่วมกันก็จะเต็มที่ที่จะแก้ไข ส่วนเรา วันหนึ่งอาจจะกลับมาที่นี่หรือมีรุ่นน้องได้มาลงชุมชนอีกก็จะมีข้อมูลที่พี่เคยทำไว้เป็นพื้นฐานในการทำงานต่อๆไป

 

IMG_1844 IMG_1822IMG_1888

อยากถามในส่วนของตัวคิมเองบ้าง ทราบว่าได้รับเลือกเป็นประธานชมรมนิสิตนักศึกษาพยาบาลแห่งประเทศไทยด้วย ต้องทำอะไรบ้าง

ชมรมนี้ก่อตั้งเพื่อเป็นศูนย์รวมของนักศึกษาพยาบาลทั่วประเทศได้มาทำกิจกรรมร่วมกันครับ กิจกรรมที่ทำเป็นเรื่องการสร้างประโยชน์ให้ชุมชน คิดว่าตอนที่รุ่นก่อนๆก่อตั้งชมรมคงมองกันว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ความรู้จากตำราเรียน ไม่ใช่ความรู้จากอาจารย์เท่านั้น แต่เป็นการคิดว่าจะนำความรู้ที่เราได้รับมาใช้ประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคมและต่อประเทศชาติอย่างไร  การออกชุมชนเราจะไปยังถิ่นทุรกันดานที่การสาธารณสุขอาจจะเข้าไปไม่ค่อยถึง งานที่ทำจะลักษณะเน้นสร้างมากกว่าซ่อมดังที่กล่าวไปในตอนแรกครับ

คล้ายกับขยายออกไปจากห้องเรียนด้วยข้อจำกัดที่น้อยลง โดยมีเครือข่ายเพื่อนๆพยาบาลด้วย

ใช่ครับ และได้ฝึกอีกหลายอย่าง แม้ด้วยเวลาที่เรียนค่อนข้างมากและกิจกรรมของคณะก็มีอยู่ ทำให้เราอาจต้องนำเวลาส่วนตัวไปทำ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่มีความสุขไหนสุขเท่ากับที่เราได้รับรู้ว่าเรามีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนอื่นๆไปในทางที่ดีขึ้น บางครั้งเพื่อนๆหรือเราที่มาทำตรงนี้อาจจะเหลือเวลาส่วนตัวน้อยลง เสาร์อาทิตย์ต้องมาทำกลุ่มประชุมกันบ้าง ทำตรงนี้มาตั้งแต่ปี 2 ตอนนี้ก็ใกล้หมดวาระแล้ว จากนี้คงเป็นการส่งต่องานให้น้องๆ

การทำงานตรงนี้เป็นการฝึกตัวเองด้วย เพราะงานชมรมไม่ใช่อยู่กันแค่สถาบันเรา แต่เป็นการทำงานร่วมกับสถาบันอื่น สิ่งดีๆของที่อื่นๆเราก็ได้นำมาใช้ เป็นการแลกเปลี่ยนกันเพื่อกลับมาพัฒนาคณะของด้วยครับ

แล้วมีเรื่องไหนที่เราประทับใจบ้าง

มีครั้งหนึ่งในการลงชุมชนเป็นคุณลุงซึ่งคนไข้ติดเตียงแล้วเราได้ไปสัมผัสอยู่กับเขา แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆแต่คุณลุงบอกว่ารู้สึกเหมือนไม่ถูกทอดทิ้งจากสังคม วันนี้ถึงคุณลุงจะไม่หายและไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้ว แต่สิ่งที่คุณลุงให้ไว้กับนักศึกษาพยาบาลถือเป็นครูบาอาจารย์ เพราะการไปเยี่ยมบ้านต้องใช้บ้านเป็นโรงพยาบาล ใช้อุปกรณ์ที่มีที่บ้านดูแล มันเป็นความประทับใจว่า เราอยู่ตรงนี้ต้องทำให้ได้เพื่อคุณภาพชีวิตของเขาที่ดีขึ้น ส่วนอีกเรื่องที่เป็นความประทับใจส่วนตัวคือ ในวันพยาบาลสากลปีที่แล้ว (2557) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้ทรงมาเป็นองค์ประธานเปิดงาน เราได้เป็นผู้กล่าวรายงานถวายในส่วนชมรมนิสิตนักศึกษาพยาบาลแห่งประเทศไทย เรารู้สึกว่าที่จริงเราเป็นนักศึกษาคนหนึ่งก็เหมือนนักศึกษาทั่วไป เมื่อได้มาทำตรงนี้จึงได้รับโอกาสนี้ เป็นกำลังใจให้เราทำงานตรงนี้ อยากบอกน้องๆว่า แม้เราอาจทำอะไรได้ไม่มาก แต่สิ่งที่ทำควรมีความหมายและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายให้มากที่สุด

สุดท้ายนี้ อยากให้ฝากถึงน้องๆที่อยากเข้ามาเรียนพยาบาลสักหน่อย 

อยากฝากว่า ขอให้ความรักเป็นแรงจูงใจ เป็นพลังขับเคลื่อนที่จะทำงานทุกอย่าง รักในสิ่งที่จะทำ ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิชาชีพนี้ต้องมีทั้งความเสียสละ ความอดทน ความซื่อสัตย์ ความเมตตา การเรียนเก่งหรือมีคะแนนถึงเท่านั้นอาจจะยังไม่พอ เพราะบางทีเวลาส่วนตัว เราอาจจะต้องใช้เพื่อดูแลคนอื่น ส่วนเรื่องของการเตรียมตัว คงต้องเตรียมวิชาการตั้งแต่มัธยม ซึ่งถ้าได้เข้ามาแล้วต้องเรียนหนักแน่นอนแต่คิดว่าคงปรับตัวเรียนรู้ไปกันไปได้ แต่สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวและตระหนักคือ เราต้องทำงานกับชีวิตคน แต่ละนาทีมีความหมายบ่งบอกถึงความตายหรือพิการได้ ดังนั้น เราต้องอดทน ไฝ่รู้ไฝ่เรียนตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาขึ้น บุคลากรด้านสุขภาพเองก็ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องทั้งด้านความรู้และเทคโนโลยี เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับน้องๆที่อยากจะเข้ามาเรียนตรงนี้

 

บรรยากาศการฝึกปฏิบัติงานในรายวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุของนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมิทราธิราช

 

IMG_1861 copy IMG_1880 copy IMG_1870 copy IMG_1859 copy IMG_1826 copy IMG_1794 copy

 

 

งานประชาสัมพันธ์
โทร 02 244 3860
Email:askans.rector@gmail.com

Posted by & filed under ข่าวประชาสัมพันธ์.