ผลิตนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ป.ตรี ครั้งแรกใน กทม.
ดร.พิจิตต รัตตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยว่า จากสถิติ ปัจจุบันมีเหตุการณ์ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินประมาณ 12 ล้านครั้งต่อปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยวิกฤติและเร่งด่วนประมาณร้อยละ 30 ซึ่งต้องได้รับการบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิต และอวัยวะ ทั้งนี้หากมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพจะช่วยรักษาชีวิตผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 15-20 หรือปีละ 9,000 –12,000 คน ขณะที่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่าในปัจจุบันประเทศมีความขาดแคลนบุคลากรรุนแรงและภายในปี 2565 จะมีความต้องการนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์อีกหลายพันคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชากรอยู่กันอย่างแออัดและการนำส่งผู้ป่วยสู่สถานพยาบาลมีอุปสรรคจากทั้งการจราจรและความคับคั่งของอาคารสถานที่ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จึงได้ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (Bachelor of Science ,Paramedicine) ขึ้น เพื่อผลิตนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ( Emergency Medical Technician Paramedic) เพื่อเข้าทำหน้าที่เชื่อมต่อช่องว่างระหว่างสถานพยาบาล (กทม. 10 แห่ง และ ร.พ.เอกชน) และจุดเกิดเหตุในตรอกซอกซอย อาคารสูงและพื้นที่สาธารณะในเขตเมือง ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวกำกับและสอนโดยคณาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และถือเป็นภาควิชาหนึ่งของคณะแพทย์ฯ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดสอนได้ภายในเดือนสิงหาคม 2558 นี้ ได้จำนวนเพียง 30 คน ก่อนในเบื้องต้น
ปัจจุบัน หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชแล้ว และอยู่ระหว่างรอการประเมินตามมาตรฐานสากล ผู้ที่สนใจ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nmu.ac.th



งานประชาสัมพันธ์
โทร 02 244 3860
Email:askans.rector@gmail.com