MERS (เมอร์ส) ไวรัสมรณะ
ทำความรู้จักกับ “เมอร์ส” (MERS) เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อันตรายกว่าที่เคยพบมา มันสามารถปลิดชีพคุณได้ในเวลาเพียงไม่นาน!
ต้นกำเนิดของโรค…?
เมอร์ส หรือ เมอร์สคอฟ มีชื่อภาษาอังกฤษแบบเต็มๆ ว่า Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV) หรือโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ตะวันออกกลาง ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “โรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012″ เนื่องจาก พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกเมื่อปี 2012 ในประเทศ ซาอุดิอาระเบีย
พาหะนำโรค
เมอร์สมีลักษณะคล้ายโรคซาร์ส แต่มีความรุนแรงมากกว่าเป็นเท่าตัว โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ‘ไวรัสโคโรน่า’ (corona virus) ไวรัสชนิดนี้จะมีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์เป็นไวรัสที่ติดเชื้ออยู่บริเวณส่วนต้นของทางเดินหายใจในคน เป็นสาเหตุอาการโรคหวัดทั่วๆ ไป แต่บางสายพันธุ์เป็นไวรัสที่ติดเชื้อในสัตว์เลี้ยง/สัตว์ป่า เช่น อูฐ และค้างคาว จากนั้นไวรัสชนิดนี้ได้มีการพัฒนาจนสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้
อาการเมื่อติดโรค
ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ไอ หายใจไม่สะดวก อุจจาระเหลว หากเป็นหนักจะเสียชีวิตทันทีภายใน 3 -4 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเพศชาย โดยเชื้อจะอยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลายผู้ป่วย ติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมดร้อยละ 96 มีโรคประจำตัว 1 โรคหรือมากกว่า เช่นเบาหวาน รองลงมาคือความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น โดยอาการของโรคจะมีความรุนแรงแตกต่างกันตั้งแต่มากจนถึงน้อย และมีประมาณร้อยละ 20 ที่ไม่แสดงอาการเลย
อัตราการติดเชื้อในปัจจุบัน
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตด้วยไวรัสตัวนี้แล้ว 442 คน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 36 โดยข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของยุโรป รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2558 แล้วใน 25 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ จอร์แดน โอมาน คูเวต อียิปต เยเมน เลบานอน อิหร่าน ตุรกี อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ตูนิเซีย แอลจีเรีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และ จีน
*ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ www.thairath.co.th/clip/19927
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัส หรือวัคซีนตัวใดที่สามารถรักษาเมอร์สได้ แพทย์ทำได้เพียงให้การรักษาตามอาการ โดยการดูแลระบบการหายใจ เพื่อไม่ให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน
การป้องกันเบื้องต้น
1. หลีกเลี่ยงการไปฟาร์มปศุสัตว์
2. ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัด หรืออาการปอดบวม
3. หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่สม่ำเสมอ
4. หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศที่มีการระบาด หากมีอาการไอ เป็นไข้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่มาของโรคที่แน่ชัด มันจึงถูกจัดเป็นโรคใหม่และอันตราย ฉะนั้นเพื่อความไม่ประมาท อย่าลืมอ่าน และปฎิบัติตาม จะได้ไม่กลายเป็น 1 ในผู้ติดเชื้อ
เรื่อง : วนาทิพย์ กิรานุชิตพงศ์
ข้อมูลอ้างอิง : bpl.co.th, thairath.co.th