เทศกิจยุคใหม่กู้ชีพฉุกเฉิน

 

EyWwB5WU57MYnKOuXuXPxsCakYQ7ALvatxNECv9NrcUi0XAqr8YQcQ

รายงานวันจันทร์”- เพราะเทศกิจไม่ได้มีไว้จับแม่ค้า

เพราะ “เทศกิจ” มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุม ดูแลตรวจตราพื้นที่สาธารณะและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อบ้านเมืองในแต่ละวันเทศกิจจึงอาจจะต้องเผชิญสถานการณ์เหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้าจึงจำเป็นต้องมีความรู้และมีทักษะในการช่วยเหลือประชาชนทางการแพทย์เบื้องต้น

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จึงได้ร่วมกับสำนักเทศกิจ กทม. จัดโครงการฝึกอบรม “เทศกิจอาสาฉุกเฉินการแพทย์” ขึ้น

นพ.นาวิน สุรภักดี ผู้ช่วยคณบดีแพทย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการว่าเนื่องจากสถิติของการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับสองของประเทศไทย โดยข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินประมาณ 12 ล้านครั้งต่อปีแยกเป็นผู้เจ็บป่วยวิกฤติและเร่งด่วนประมาณ 4 ล้านครั้งต่อปี

ในจำนวนนี้มีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตนอกโรงพยาบาลประมาณ 6 หมื่นคนทั้งนี้หากมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพในการรักษาชีวิตก็จะสามารถช่วยชีวิตได้ถึงปีละ 9,000-12,000 คนจึงมีความคิดที่จะต้องการลดความสูญเสียให้ลดน้อยลงโดยการให้ความรู้ด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใกล้ชิดประชาชน นั่นก็คือ เทศกิจ

เทศกิจอาสาฉุกเฉินการแพทย์คือการอบรมให้ความรู้ด้านการปฐมพยาบาลการแพทย์เบื้องต้นโดยแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เช่นให้เข้าใจถึงสรีระของร่างกายมนุษย์เข้าใจผลของการเสียเลือดและการบาดเจ็บของกระดูกซึ่งต้องระมัดระวังการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและฝึกการดามกระดูกการประเมินสถานการณ์และการประเมินสภาพผู้ป่วย เพื่อคัดแยกการนำส่งโรงพยาบาล

การช่วยคลอดฉุกเฉิน การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานการกระตุกหัวใจไฟฟ้าแบบพกพา การเคลื่อนย้ายการเรียนรู้สถานการณ์สาธารณภัยและการแยกผู้ป่วยเบื้องต้นและสิ่งสำคัญที่ผู้เข้าอบรม จะต้องมีทักษะในการเข้าช่วยเหลือคือจะต้องรู้ว่าตนเองปลอดภัยก่อนให้การช่วยเหลือในสภาวะเหตุฉุกเฉิน

ดร.พิจิตต รัตตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่าโรคภัยและอุบัติเหตุในเขตเมือง จะมีความเสียหายและรุนแรงกว่าพื้นที่อื่นๆเนื่องจากมีการกระจุกตัวของประชากร ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชจะเน้นด้านเวชศาสตร์เขตเมือง เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน ถือมีความสำคัญต่อเมือง

การอบรมเจ้าหน้าที่เทศกิจ เป็นการเพิ่มทักษะและเพิ่มศักยภาพให้เทศกิจสามารถช่วยเหลือผู้ประสบสภาวะฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องรวดเร็วก่อนจะส่งถึงโรงพยาบาล เพื่อลดความสูญเสียแก่ชีวิตอีกทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อประชาชนและในอนาคต ทางมหาวิทยาลัยฯมีแผนจะให้ความรู้ด้านการปฐมพยาบาลการแพทย์เบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ซึ่งขณะนี้อยู่ระยะในการดำเนินงาน

การอบรมครั้งนี้ มีทั้งหมด 10 รุ่น รวม 600 คน จัดขึ้นระหว่าง เดือนมิ.ย.-ก.ย.2558 โดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นผู้ให้การสนับสนุนวิทยากรรถฉุกเฉินและอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายมหานครแห่งความปลอดภัยของคนเมือง.

โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 20 ก.ค. 2558 05:15

Posted by & filed under ข่าวประชาสัมพันธ์.